xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ ปลื้มยอดขายผลิตภัณฑ์ชุมชนใน 3 สนามบินนานาชาติของไทย 9 ปี รวมกว่า 630 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จำหน่ายใน 3 สนามบิน 'สุวรรณภูมิ ภูเก็ต ดอนเมือง'9 ปี มียอดขายรวมกว่า 630 ล้านบาท นักท่องเที่ยวแห่อุดหนุนสินค้าก่อนกลับประเทศ พร้อมชม ‘สินค้าไทยสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว’ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด ผ้าห่มผ้าฝ้าย และน้ำมันเหลือง

นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง DBD SMART Local - ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น คือ การนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ที่มีภาพลักษณ์ดี และความพร้อมทางการตลาดให้มีโอกาสได้จำหน่ายในร้านค้า ณ สนามบินนานาชาติ 3 แห่งของไทย คือ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และดอนเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือใช้เอง โดยดำเนินการร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ และ บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ผู้บริหารจัดการร้านค้าในสนามบิน

ตลอดระยะเวลา 9 ปี (ปี 2557 - 2565) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำผลิตภัณฑ์ชุมชน 2,375 รายการ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน 112 ราย วางจำหน่าย ณ สนามบินนานาชาติ สร้างยอดขายรวมมากกว่า 630 ล้านบาท แบ่งเป็น สุวรรณภูมิ 490 ล้านบาท ,ภูเก็ต 119 ล้านบาท และดอนเมือง 21 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย ได้แก่ มะขามหวานอบแห้ง แกะเมล็ด ผ้าห่มผ้าฝ้าย และน้ำมันเหลือง สะท้อนถึงความนิยมผลิตภัณฑ์ไทยที่ไม่เพียงแค่งดงาม แต่แสดงถึงอัตลักษณ์โดดเด่นที่มีคุณภาพ และรสนิยม นอกจากช่องทางการขายในสนามบินแล้ว ยังคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.kingpower.com รวมกว่า 4 ล้านบาท

นางรวีพรรณ กล่าวด้วยว่า กรมฯ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้มีโอกาสด้านการตลาดที่หลากหลาย โดยช่องทางการจำหน่ายในท่าอากาศยานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมกันคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นตามหลักการ DBD SMART Local ให้มีโอกาสขยายตลาดในระดับสากล รวมถึง เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น