รายงานพิเศษ "ลึกทันใจ" เผยแพร่ทางแฟนเพจ NEWS1 และ Tiktok newsonetiktok วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ตอน 3 อำนาจเปลี่ยนประมุขคนใหม่ ผู้หญิง ผงาด ปธ.ศาลฎีกา
กรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. มีมติเอกฉันท์เลือก นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ คนที่ 49 และเป็นประธานฯ ที่เป็นผู้หญิงคนที่สามในรอบห้าปี
และปีนี้ประเทศไทยจะมีการแต่งตั้งประมุขทั้ง3 อำนาจ เป็นคนใหม่พร้อมกัน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ คือเมื่อวันที่4 กรกฎาคม สภาผู้แทนราษฎรเลือกนาย วัน มูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง เป็นประมุขอำนาจนิติบัญญัติ
และในวันที่13 ก.ค. จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร ถ้าไม่จบที่นายพืธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ก็จะเปิดสภาเลือกกันอีกในวันที่19-20 เดือนนี้
สำหรับ ประมุขฝ่ายอำนาจตุลาการ นางอโนชา ประธานศาลฎีกาคนใหม่ จะก้าวขึ้นมาเป็นประมุขอำนาจตุลาการ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งปีเดียว ประธานศาลฎีกาถัดไปคือคนที่50 ก็จะเป็นผู้หญิงเหมือนที่นางเมทินี ชโลธร ที่เป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 46 และเป็นผู้หญิงที่ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาคนแรก ถัดมา อีกปี นางปิยกุล บุญเพิ่ม เป็นประธานศาลฎีกา คนที่47
ประมุขอำนาจตุลาการ จะเป็นหญิงหรือชายไม่มีความแตกต่าง แต่ต้องมีคุณสมบัติที่เหมือนกันคือ เป็นคนเก่ง ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีอาวุโสตามลำดับตั้งแต่บรรจุเป็นผู้พิพากษา และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีวาสนาฟ้าลิขิตมาเพื่อเป็นประธานศาลฎีกา
กรณี ท่านอโนชา ว่าที่ประธานศาลฎีกาคนใหม่นี้ เห็นได้ชัดเจนว่าวาสนาพาส่งปูทางมาเป็นประมุขตุลาการโดยแท้ เพราะปีนี้นาย โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา อายุครบ65 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่งบริหาร พร้อมกับประธานศาลอุทธรณ์ และรองประธานศาลฎีกาอีก6 คน
เป็นผลให้ตำแหน่งที่อาวุโสเหนือกว่าทั้งประธานศาลอุทธรณ์ และรองประธานศาลฎีกาไม่มีใครอยู่ การเลือกประธานศาลฎีกาจึงขยับมาพิจารณาถึงตำแหน่งประธานแผนกคดีในศาลฎีกา ที่มีอยู่11 แผนก ก็พบว่าท่านอโนชามีอาวุโสสูงสุด
หลังการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ก็จะมีการแต่งตั้งในตำแหน่งรองลงมา ในบัญชีโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ บัญชี2 ที่เตรียมเข้าพิจารณาในกต. ในเร็ววันนี้ เห็นบัญชีแต่งตั้งแล้วก็ทำให้เห็นหน้าตาประธานศาลฎีกาคนที่50 ซึ่งจะเป็นผู้หญิง เช่นกัน
คือ นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ที่ถูกเสนอชื่อจากหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา มาเป็นประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา แทนท่านอโนชา
และในบัญชี2 บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ที่มีอาวุโสลำดับเหนือกว่าท่านชนากานต์ แต่ละคนล้วนแต่อายุครบ65 ปีในปีหน้า เหลือท่านชนากานต์ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง
ดังนั้นประธานศาลฎีกาปีนี้และปีหน้าจะเป็นผู้หญิง และถ้าท่านชนากานต์ได้รับแต่งเป็นประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ประมุขตุลาการทั้งคนที่49 และคนที่50 ก็มาจากแผนกเยาวชนและครอบครัวเช่นกัน
ประมุขแห่งอำนาจทั้งสามฝ่าย ที่เลือกใหม่ทั้งหมดในปีนี้ ได้ผู้หญิง 1 คน อีก2 อำนาจเป็นผู้ชาย ไปแล้วหนึ่งคน แต่ถ้าหากพิธามีปัญหาแหกด่านส.ว.ไม่ได้ นายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายอำนาจบริหารก็อาจจะเป็นผู้หญิงอีกคน ก็เป็นได้