xs
xsm
sm
md
lg

เรือหลวงสุโขทัยอับปาง อย่าปล่อยให้คนไทยทวงถามความจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ "ลึกทันใจ" เผยแพร่ทางแฟนเพจ NEWS1 และ Tiktok newsonetiktok วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ตอน เรือหลวงสุโขทัยอับปาง อย่าปล่อยให้คนไทยทวงถามความจริง



จนบัดนี้โศกนาฏกรรมเรือหลวงสุโขทัยอับปางผ่านพ้นมาแล้วกว่า 7 เดือน แต่กองทัพเรือยังไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการว่า

เหตุใดเรือหลวงสุโขทัยจึงไม่อาจต้านทานทะเลคลั่งคลื่นโหด จนน้ำทะลักเข้าท่วมห้องเครื่องจักรใหญ่และเครื่องไฟฟ้า เป็นเหตุให้หัวใจหลักของเรือล้มเหลว ส่งผลให้ทุกระบบดับสนิท เรือเอียงกราบมากกว่า 50 องศา ตั้งแต่เวลา 14:00 น ก่อนจะอับปางลงสู่ก้นทะเลในคืนวันเดียว (18 ธันวาคม 2565) กัน ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 24 นาย สาบสูญ 5 นาย

ย้อนไปก่อนวันเกิดเหตุ วันที่ 17 ธันวาคม 2565 เรือหลวงสุโขทัยออกเรือในตอนเย็น มุ่งหน้าสู่จังหวัดชุมพรถึงที่หมายในตอนเช้า พร้อมด้วยกำลังพลสมทบจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เพื่อที่จะทิ้งสมอหน้าหาดทรายรี เตรียมประดับไฟและร่วมพิธีในงานเทิดพระเกียรติเสด็จเตี่ยวาระ 100 ปี วันที่ 19 ธันวาคม 2565
ขณะเดินทาง ร.ล.สุโขทัย มีกำลังพลอยู่บนเรือรวมกันทั้งสิ้น 105 นาย

หากไม่นับการอับปางของ เรือหลวงศรีอยุธยาที่ถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบินกองทัพอากาศในเหตุการณ์กบฎแมนฮัทตัน จนเรือจมลงใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 การอับปางเรือหลวงสุโขทัยนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือที่ต้องสูญเสียเรือโดยมิได้ทำการรบ

หาก แต่จุดจบของเรือมาจากสภาพคลื่นลมรุนแรงและสภาพตัวเรือที่มีข้อสงสัยว่าเป็นปัญหาสะสมมาจากการซ่อมบำรุงจริงหรือไม่

การไขปริศนาและคำครหาข้างต้นจึงต้องอาศัยข้อพิสูจน์จากหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยการกู้เรือลำนี้ขึ้นมาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงให้คนไทยทั้งประเทศในฐานะที่เป็นเจ้าของภาษีอากรได้รับรู้ร่วมกัน

แม้ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุ กองทัพเรือภายใต้การนำของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. จะออกมาประกาศอย่างขึงขังว่าจะเร่งรีบกู้เรือสุโขทัยโดยตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ 100 ล้านบาท เพื่อให้อำนาจในการอนุมัติอยู่ในมือ ผบ.ทร.

แต่หลังจากตรวจสอบข้อมูลและกรรมวิธีในการกู้เรือจากบริษัทต่าง ๆ กว่า 10 ราย ที่ให้ความสนใจและเสนอตัวเป็นคู่สัญญา งบประมาณที่ ผบ.ทร. ตั้งไว้กลับไม่เพียงพอ

เพราะตัวเลขโดยเฉลี่ยจากทุกผู้ยื่นข้อเสนอกลับสูงเกินกว่า 200 ล้านบาท

และเมื่อกองทัพเรือร้องขอไปยังรัฐบาล “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ รักษาการณ์กลับอนุมัติ งบกลางให้มาเพียง 70 ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายความว่า กองทัพเรือจะต้องเจียด งบประมาณของตัวเองมาสมทบ เพื่อให้การกู้เรือเกิดขึ้นได้

แต่นั่นไม่น่าจะใช่ปัญหาใหญ่และเป็นอุปสรรคที่แท้จริงของกองทัพเรือ แหล่งข่าววงในระบุว่า การยื้อเวลากู้เรือสุโขทัยเป็นเพราะไม่ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการกู้เรือที่ไม่อาจการันตีได้

ย่อมมีผลต่อการเสนอชื่อของผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ อันประกอบไปด้วย พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะประธานโครงการกู้เรือ พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือและประธานคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุการอับปางของเรือ

รวมทั้ง พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ดูเหมือนจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหา รอดู 2 แคนดิเดทรุ่นพี่ว่าจะออกหัวหรือก้อยในเดิมพันครั้งนี้

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ในท้ายที่สุดไม่ว่าจะเร็วหรือช้า กองทัพเรือจะต้องเปิดปฏิบัติการกู้เรือสุโขทัยให้ได้ เพราะหากปล่อยให้เรือลำนี้เป็นสุสานอยู่ใต้ทะเล กองทัพเรือก็จะมิใช่กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น