xs
xsm
sm
md
lg

“ครูปัทม์” ครูที่ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ทุ่มเทเนรมิตอาหารกลางวันสุดหรูเพื่อเด็กในโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ครูปัทม์” แห่งโรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง ครูที่ไม่เพียงสอนความรู้ทางวิชการให้เด็กในโรงเรียนเล็กๆ แต่ยังรับผิดชอบโครงการอาหารกลางวัน ที่นอกจากมีความหลากหลายและเลิศหรูดูน่ารับประทานแล้ว ยังช่วยให้โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เสี่ยงต่อการถูกยุบอีกต่อไป



โรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี แม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองหลายสิบกิโลเมตร แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า โรงเรียนแห่งนี้จะมีอาหารกลางวันดีๆ หลากหลายเมนู ให้นักเรียนได้อิ่มท้อง ทั้งอาหารนานาชาติและอาหารพื้นบ้าน รวมทั้งขนมหวาน เรียกได้ว่า โรงเรียนที่ใหญ่กว่านี้ ยังมีโครงการอาหารกลางวันไม่ได้แบบนี้ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญให้นักเรียนที่นี่มีเมนูอาหารดีๆ กินทุกวัน ทั้งยังทำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาเรียนที่นี่กันมากขึ้น ทำให้โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ ไม่ต้องเสี่ยงถูกยุบเช่นในอดีต ก็คือ คุณครูปัทมาพร นพรัตน์ หรือครูปัทม์ นั่นเอง


สามารถ ไพบูรณ์ธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง เผยว่า“โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คือนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ตอนนี้โรงเรียนเรามีนักเรียน 107 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับตายายปู่ย่า ถามว่าขาดแคลนไหม ก็มีส่วนใหญ่”


ด้านครูปัทม์ ปัทมาพร นพรัตน์ ซึ่งเป็นครูอยู่ที่นี่ 20 ปีแล้ว ผ่านช่วงวิกฤตที่โรงเรียนเสี่ยงถูกยุบ พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้โรงเรียนแห่งนี้คงอยู่กับพื้นที่ต่อไป


“จากเมื่อก่อน 20 ปีที่แล้วที่ครูปัทม์มาบรรจุที่นี่ครั้งแรก มีนักเรียนประมาณ 64 คน มาเรื่อยๆ อยู่ในกลุ่มของโรงเรียนที่มีโอกาสที่จะถูกยุบ เพราะโรงเรียนของเราตั้งอยู่ในชุมชนขนาดเล็ก และอยู่ระหว่างโรงเรียนใหญ่ 2 โรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอกับประจำตำบล ซึ่งในชุมชนของเรารู้สึกว่า เรายังอยากคงสถานที่ของเราไว้ ยังอยากจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของเรา ดังนั้นเราเลยค่อยๆ พัฒนาปรับปรุงและแสดงศักยภาพในความเป็นโรงเรียนขนาดเล็กของเราให้ต้นสังกัดให้ชุมชนเห็น และจำนวนนักเรียนก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เราก็เลยยังอยู่ต่อมาได้โดยที่ไม่ถูกยุบ”


ครูปัทม์ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนนักเรียนชั้น ป.6 แต่ครูยังรับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งแน่นอนว่า ลำพังงบประมาณที่ได้รับจากรัฐไม่เพียงพอที่จะได้อาหารที่หลากหลายสำหรับเด็ก


“เริ่มต้นที่ครูปัทม์รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันครั้งแรกเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้งบประมาณ 13 บาทต่อคนต่อวัน และขยับมาเป็น 20 บาทต่อคนต่อวัน และมา 21 บาท จนเมื่อ ม.ค.66 ขึ้นมาเป็น 24 บาท ซึ่งทุกโรงเรียนก็จะได้นำงบจากรัฐบาลส่วนนี้มาจัดสรร ขึ้นอยู่กับวิธีดำเนินการของแต่ละโรงเรียนว่าจะเลือกดำเนินการยังไง ถ้าเกิดงบรัฐบาลล้วนๆ สมมุติ ณ ตอนนี้ 24 บาท นี่เยอะแล้วนะ เป็นเรื่องน่าดีใจมาก ถ้า 24 บาทล้วนๆ เลย ก็จะได้เป็นประมาณต้มผัดแกงทอด และเป็นเมนูผักพื้นบ้าน และเป็นเนื้อสัตว์พื้นฐาน เป็นไข่ได้ เป็นหมูเป็นไก่ ปลานิลได้ จะไม่ได้อาหารทะเล จะไม่ได้กุ้งไม่ได้ปลาหมึก ไม่ได้เส้นสปาเก็ตตี้ ไม่ได้อาหารนานาชาติ จะเป็นเมนูพื้นฐานที่อาจจะไม่แตกต่างจากที่บ้านเท่าไหร่ และความหลากหลายของเมนูจะน้อย เพราะเราก็จะวน ใช้วัตถุดิบเดิมๆ ที่อยู่ในงบประมาณ”


แม้งบประมาณจากรัฐมีจำกัด แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบพืชผักสำหรับปรุงอาหารจากชุมชน ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว ประกอบกับมีผู้ใจบุญเข้ามาช่วยเหลือบ้าง ทำให้ครูปัทม์พยายามรังสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย มีทั้งเมนูอาหารนานาชาติ ที่เด็กๆ อาจเคยเห็นแต่ภาพ และอาหารพื้นบ้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้สารอาหารครบถ้วน


“บางครั้งเด็กดูยูทูบ ดูทีวี ดูโฆษณา เขาเห็นสื่อต่างๆ ถึงแม้เราจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกล แต่ในเมื่อสื่อเข้าถึงเด็ก โลกเขากว้างขึ้น เขาเห็น แต่เขาไม่เคยทาน บางครั้งครูคิดเมนูไม่ออก สมมุติวันนี้ครูได้งบประมาณเพิ่มเติม มีผู้มีอุปการคุณเป็นเจ้าของวันเกิดเขาสมทบมา 3,000 บาท ครูจะนำเงินที่ได้รับเพิ่มเติม 3,000 บาท มารวมกับงบ 24 บาทต่อคนต่อวัน ดังนั้นครูจะได้วัตถุดิบที่ดีขึ้นมากๆ ทีนี้ก็ไปถามเด็กๆ ไปปรึกษาเขา หนูอยากกินอะไร เขาจะยกมือแย่งกันตอบเลยว่า ครูครับหนูอยากกินแฮมเบอเกอร์ ซูชิ อยากกินพิซซ่า (แต่ครูทำไม่เป็นนะ) ทำไม่เป็น แต่ครูก็เหมือนเด็กๆ เลย เด็กดูยูทูบมาและมาบอกครู ครูก็ไปหายูทูบต่อว่า มันทำยังไง และนอกจากมีแค่ขนมปัง มีตัวเบอเกอร์ มีซอส มีชีส เราต้องทิ้งไม่ได้เลยคือเรื่องคุณค่าทางอาหารในเรื่องของผัก คือครูตามใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สปอยล์ถึงขั้นว่า เป็นจังก์ฟู้ด เป็นฟาสต์ฟู้ด เราจะไม่ทิ้งคุณค่าทางอาหารเลย”


“ใน 5 วัน เรามีเมนูไม่ซ้ำกัน วันจันทร์เป็นอาหารนานาชาติ สาเหตุที่เป็นอาหารนานาชาติ เพราะเอาไว้ดึงดูดเด็ก เพราะเด็กหยุดเสาร์อาทิตย์ บางครั้งมีการติดพัน วันจันทร์งอแงไม่อยากมาโรงเรียนอยากหยุดต่อ แต่เอาอาหารนานาชาติไว้ล่อใจ เพราะวันจันทร์จะว้าวสุด เบอร์เกอร์ พิซซ่า ซูชิ ข้าวห่อสาหร่ายเกาหลี เป็นนานาชาติ วันอังคาร เพื่อไม่ให้ลืมกำพืดตัวเอง ไม่ให้หลงระเริงกับอาหารหรูหรา วันอังคารเลยเป็นเมนูพื้นบ้าน แกงเทโพ ต้มมะระ แกงหน่อไม้ ไข่พะโล้ ผัดผักบุ้ง ยังกินได้ พอวันพุธเปลี่ยนบรรยากาศเป็นอาหารจานเดียว ข้าวผัด ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ อย่างวันนี้เป็นวันพฤหัสฯ เด็กๆ จะได้ทานข้าวหน้ามหาสมุทร เมื่อเช้าครูก็ไปซื้อกุ้ง ซื้อปลาหมึก และมีปลาทู มาลวก มานึ่ง มาทอด และให้เด็กๆ กินกับน้ำจิ้มซีฟู้ด พอวันศุกร์วันสุดท้ายเป็นเมนูเด็กเส้น ก๋วยเตี๋ยวสารพัด ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ จะอยู่วันศุกร์”


นอกจากอาหารจะหลากหลายเป็นที่ถูกใจเด็กๆ แล้ว ยังมีเมนูขนมหวาน ซึ่งได้ครูนุ่น เพียงตะวัน นวกุล มาช่วยให้โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง ครบเครื่องมากขึ้น


“จุดเริ่มต้น ครูปัทม์เห็นว่าครูนุ่นชอบสอนนักเรียนทำขนม ครูปัทม์เลยบอกว่า เราไม่มีสหกรณ์ เรามีขนมในถาดหลุมของตัวเอง ครูปัทม์เลยเชิญครูนุ่นให้ไปมีส่วนร่วม ไปช่วยกันทำอาหารกลางวันถาดหลุมของเราให้ขนมมันดูหลากหลายมากขึ้น เป็นที่ดึงดูดของนักเรียนมากขึ้น”


แม้ความพยายามรังสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลายและน่ารับประทานของครูปัทม์ จะมีผลตอบรับในทางบวก ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้โรงเรียน และมีเด็กมาเรียนที่นี่มากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลในทางลบที่ไม่คาดคิด ก็เกิดขึ้นเช่นกันในช่วงแรก


“อุปสรรคช่วงแรกของการที่ภาพอาหารของเราออกสื่อ ออกปรากฏสู่สายตาประชาชน จริงๆ แล้วครูทำแบบนี้มาเป็น 10 กว่าปี คือเจตนาถ่ายก็แค่อยากให้ผู้ปกครองเห็นว่าเขามาอยู่กับเรา เขาได้กินอะไร และถ่ายเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของตัวเอง เราไปซื้ออะไรมา ถ้าคนซื้อกับข้าวเป็น หรือคนรู้วัตถุดิบ เขาจะดูออกทันทีว่าทุกบาททุกสตางค์ใช้ไปกับสิ่งเหล่านี้หมด ก็ถ่ายให้ดู แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เริ่มมีสปอนเซอร์สนับสนุน เราก็ยิ่งต้องถ่าย เพื่อให้สปอนเซอร์เห็น ทีนี้พอภาพออกไป คนเริ่มมาสนใจเฟซบุ๊ก กลายเป็นโดนสังคมไม่เชื่อถือและบั่นทอนในลักษณะที่ไม่ได้เชื่อว่าครูทำจริง ท้อ เสียใจ และเครียด แต่ไม่เคยคิดจะหยุดทำ”


โครงการอาหารกลางวันที่ครูปัทม์รับผิดชอบ ไม่เพียงช่วยให้เด็กๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการเรียนของเด็กด้วย

“ผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ นักเรียนมีสุขภาพที่แข็งแรง และเจริญเติบโตสมวัย ไม่เจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารที่เราจัดให้ และทำให้เขาอยากมาโรงเรียนทุกวัน การที่เขามาโรงเรียนทุกวัน มันก็ส่งผลดีต่อตัวครู ต่อโรงเรียน เพราะเราจะพัฒนาเขาได้ครบทุกอย่าง จะไปแข่งกีฬา ไปแข่งวิชาการ หรือจะจัดการเรียนการสอน ทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เขาได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วน ทีนี้พอผลการสอบปลายภาค สอบโอเน็ต สอบเอ็นที อาร์ที ที่ต้องใช้ข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ ของเราเลยอยู่ในระดับที่ดีและไม่น้อยหน้าใคร”


ไม่ใช่แค่เด็กๆ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ยังมีเงินเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต

“ในส่วนของผู้ปกครองก็ปลื้มใจ ภูมิใจที่คิดไม่ผิดที่เลือกให้ลูกมาเรียนที่นี่ และผู้ปกครองก็อยากเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องมีทอง ไม่ต้องร่ำรวยอะไร แต่ที่บ้านปลูกอะไร ถั่วฝักยาว ครู ถั่วล็อตนี้ไม่สวยนะ เพราะมันจะผอมๆ เพราะไม่ได้ฉีดยา เลยเอามาให้โรงเรียน อีกอย่างที่เป็นรูปธรรมมากๆ เลยคือ นักเรียนได้ค่าขนมมาจากบ้าน จากผู้ปกครอง ได้คนละ 20 30 หรือ 10 บาท แต่พอมาโรงเรียนปุ๊บ ในโรงเรียนไม่มีที่ให้ใช้เงิน อาหารกลางวันฟรี ในอาหารกลางวันมีทั้งข้าว ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน มีขนม มีนมเป็นอาหารว่าง ดังนั้นไม่มีสหกรณ์ ไม่มีร้านค้า นักเรียนไม่ได้ใช้ตังค์ เราก็มีโครงการฝากออมทรัพย์ แล้วพอนักเรียนจบชั้น ป.6 นักเรียนจะมียอดเงินฝาก ป.6 ปีที่แล้ว คนที่สูงสุด ประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท คือเงินเก็บที่เขาสามารถนำไปเรียนต่อได้ ซื้อชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน ชุดพละแล้วแต่เลยในชั้นมัธยม มีจ่ายตังค์ค่ารถรับส่งเพื่อเข้าไปเรียนในเมือง ซึ่งเราภูมิใจมากๆ”


โครงการอาหารกลางวันที่ครูปัทม์ทุ่มเทมา 10 กว่าปี ถึงวันนี้ ไม่เพียงช่วยให้โรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้งไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกยุบ เพราะมีนักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีแนวโน้มจะได้ครูมาเพิ่มให้พอเหมาะกับจำนวนนักเรียนอีกด้วย

“มีความสุขและภูมิใจมากๆ จากที่เราเห็นพัฒนาการใน 20 ปีที่ผ่านมา ครูปัทม์อยู่ตรงนี้มา 20 ปี อยู่นานที่สุดในโรงเรียน อยู่ตั้งแต่มีครู 3 คนก็เคย แล้วโรงเรียนจะโดนยุบก็เคย เพราะด้วยความที่เราคิดว่าเราไปต่อไม่ได้ ลำบาก แต่เรายืนหยัดที่จะอยู่ อยู่จน 60 กว่าคน กลายมาเป็น 100 คน แล้วตอนนี้ไม่มีใครมายุ่งกับเราแล้ว ไม่มีใครมาแตะเราแล้วที่จะยุบโรงเรียนเรา มีแต่จะอนุมัติอัตราครูเพิ่มเพื่อให้ครูครบชั้น เพื่อให้ครูแต่ละคนทำงานได้เต็มที่มากขึ้น”


ครูปัทม์ ยังเผยด้วยว่า“คิดไม่ผิดที่เลือกเส้นทางนี้ ตอนแรกโดยเฉพาะอาหารกลางวัน ไม่เอาเลย ปฏิเสธแบบทำไม่ได้ ทำกับข้าวไม่เป็น ไม่รู้จักอะไรเลย แต่ ณ ตอนนั้นมี 3 งานให้เลือก อาหารกลางวัน การเงิน พัสดุ การเงินกับพัสดุ ก็ไม่อยากได้ เลยจำใจ และพอมาถึงทุกวันนี้ มองอาหารเด็ก มองสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ รู้สึกภูมิใจมากๆ”

หากท่านใดสนใจสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง ติดต่อได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก : Pattamaporn Nopparat หรือเฟซบุ๊ก : โรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “อาหารกลางวันสุดหรู”
https://www.youtube.com/watch?v=5BrGCYcIK-M&t=1296s


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น