บพท.ระดมสมองหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ สังเคราะห์ชุดความรู้ เป็นข้อเสนอแก้ความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ 8 ประการ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่สำหรับใช้กำหนดนโยบายแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ควบคู่กับการผลักดันนวัตกรรมต้นแบบแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด ใน 7 จังหวัด Sandbox หวังลบล้างความยากจนให้เสร็จในปี 2570 ขณะที่ภาคเอกชนมองต้องใช้พลังของภาคีเครือข่ายทั้งชุมชน เอกชน สถาบันการศึกษา และข้าราชการ ร่วมมือกัน และให้รัฐช่วยปลดล็อกข้อกฎหมายที่เป็นอุสรรคต่อการสร้างรายได้ของชุมชน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานสถานการณ์ความยากจน ปัญหาและทางออก ในเวทีสัมมนาพหุภาคี”สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งมีการอภิปรายจากบุคลากรสำคัญ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และนักวิชาการ ร่วมระดม เพื่อฉายภาพและนำเสนอเสนอแนวทางแก้จนลดเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญระบุว่างานแก้ปัญหาความจนและลดความเหลื่อมล้ำเป็นงานที่ยากมาก ต้องการองค์ความรู้จากงานวิจัยแบบชี้เป้า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ขณะเดียวกันก็ต้องการกลไกกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีหลายภาคส่วนในพื้นที่ เนื่องจากเป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาคือการช่วยคนจนที่อยู่ล่างสุด ให้ลุกขึ้นช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วพัฒนายกระดับให้หลุดพ้นจากความยากจน
ดร.กิตติ กล่าวว่า ข้อค้นพบจากระบบข้อมูลชี้เป้า ที่บพท.พัฒนาร่วมกับทีมวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยในพื้นที่บ่งชี้ว่าเหตุแห่งความจนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน โดยภาคเหนือมีสาเหตุจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน อันเนื่องมาจากเงื่อนไขสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา และขาดแคลนปัจจัยการผลิต ขาดทักษะด้านอาชีพ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสาเหตุจากการขาดแคลนแหล่งน้ำทางการเกษตร อีกทั้งระดับราคาพืชผลก็ขายได้ราคาต่ำ และมีการศึกษาน้อย ขาดทักษะด้านอาชีพ ส่วนภาคกลาง มีสาเหตุจากการศึกษาน้อย และเผชิญภาวะยากจนเฉียบพลัน จากปัญหาสุขภาพ และภัยธรรมชาติ สำหรับภาคใต้ มีสาเหตุจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงด้านรายได้และอาชีพ
เมื่อสังเคราะห์มิติความยากจนโดยรวมแล้ว พบว่าคนจน ส่วนใหญ่จะมีระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ปัญหาด้านทุนมนุษย์ คือมีการศึกษาน้อย มีทักษะด้านอาชีพต่ำ และสุขภาพไม่แข็งแรง รองลงมาคือทุนกายภาพ ที่เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัย และที่บริการโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย ขณะที่ปัญหาด้านทุนทางการเงิน คือการมีภาระหนี้สิน ขาดแคลนเงินออม และขาดทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยการผลิต เป็นปัญหาลำดับที่ 3 ส่วนปัญหาทุนทางสังคม อันเนื่้องมาจากการเข้าไม่ถึงบริการสวัสดิการภาครัฐ เป็นปัญหาลำดับที่ 4 และปัญหาทุนธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินทำกิน เป็นปัญหาที่มีระดับความเข้มข้นต่ำสุด
“ผลจากการทำงานวิจัยแก้จนลดเหลื่อมล้ำแบบมีส่วนร่วมของบพท. กับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ถูกพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน(Pratical Poverty Provincial Connext-PPPConnext) และแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Platform : PPAP) โดยมีข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากกลไกความร่วมมือ ซึ่งเป็นถอดข้อมูลจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ สำหรับใช้ประโยชน์ในการออกแบบโมเดลแก้จน ตลอดจนกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงจุด ซึ่งพร้อมจะส่งต่อไปยังระดับนโยบาย และรัฐบาลใหม่ต่อไป”
ดร.กิตติ กล่าวด้วยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย. บ่งชี้ว่าผลลัพธ์จากการบูรณาการฐานข้อมูล และการแก้จนภายใต้กลไกกระบวนการการมีส่วนร่วม สามารถให้ความช่วยเหลือคนยากจน ใน 20 จังหวัดนำร่อง ที่มีระดับความเข้มข้นของปัญหาความจนสูงสุดคือแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ผ่านงานวิจัยนวัตกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไปแล้วกว่า 121,935 คน จากจำนวนคนจนที่ค้นพบ 1,039,584 คน
ผู้อำนวยการ บพท.ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่เตรียมจะเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภา รวม 5 ข้อ คือ 1.คงกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ ที่ควรจะมีนโยบายจัดทำกลไกบูรณาการแบบนี้ต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ 3.การจัดสวัสดิการภาครัฐ รัฐควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำ 4.ระบบข้อมูล เพื่อชี้เป้าหมายในระดับพื้นที่ ควรดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และมีการบริหารจัดการจากคนในพื้นที่ และ 5.การเสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด คือ ลำปาง กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา เป็นจังหวัดนำร่องจัดทำ Sandbox เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมายให้ครัวเรือนยากจนในระดับ 20% จากล่างสุดสามารถเข้าถึงบริการ และได้รับโอกาสต่าง ๆ 100%
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึง “ความจน ความเหลื่อมล้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อมีเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีช่องว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ปัญหาความยากจนที่ตัวบุคคล ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ควบคู่กับการเสริมพลังกลุ่มยากจนและกลุ่มเปราะบางควบคุมกันไป
ประกอบไปด้วย เรื่องย่อย ๆ เช่น เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ขณะเดียวกันเราไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, การจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาแบบเดิมไม่บรรลุผลความเสมอภาคทางการศึกษา, ระบบสาธารณสุขขาดมาตรฐานกลาง ทั้ง 3 ระบบ, การออกแบบระบบจัดการรายได้ยามชราขาดการบูรณาการและคมยืดหยุ่น, การกระจายอำนาจไม่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง และ ระบบภาษีขาดความเป็นธรรม ขณะเดียวกัน ยังพบว่า นโยบายการคุ้มครองทางสังคมขาดการพัฒนาเชิงระบบ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การคุ้มครองทางสังคมในภาพรวมของประเทศ ขาดการบูรณาการฐานข้อมูล และขาดการประเมินผลกระทบด้วย
นอกจากนี้ มีข้อเสนอนโยบายเชิงโครงสร้างที่ จะช่วยเสริมพลังทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย
1. ด้านการศึกษาและการทำงานของคนจน โดยปฏิรูปการศึกษา ยกระดับแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้แรงงานมีการพัฒนาความสามารถและเข้ามามีส่วนร่วม
2. ด้านสวัสดิการ การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่เหมาะสม เชื่อมฐานข้อมูลสวัสดิการและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงสิทธิ์ มีกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานการกลางและเป็นธรรม จัดระบบจัดการรายได้ยามชรา และสนับสนุนนโยบายและมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรม และ 3. ด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจ ให้การบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นอำนาจของท้องถิ่น
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “แนวโน้มความยากจน ภายใต้พลวัตเศรษฐกิจปัจจุบัน” ว่า ปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ต่อจีดีพีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 87% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ต้องไม่สูงกว่า 80% ยิ่งกว่านั้นหนี้เสียหรือ NPL ในระบบสถาบันการเงิน ก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากระดับ 7.3 % ในปี 2563 ขยับเป็น 12.1% ปี 2564 และมาอยู่ที่ 15.6% เมื่อปี 2565
“กรณีหนี้เสีย รวมทั้งหนี้ครัวเรือน หากไม่ได้รับแก้ไขจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน อีกทั้งยังจะเป็นชนวนเหตุนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงทางสังคม”
นายจิตเกษม กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนควรต้องดำเนินการ ให้สอดคล้องกับสถานะกลุ่มหนี้ โดยหนี้เสีย ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และกระจุกตัวอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ควรพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้ สำหรับกลุ่มหนี้เรื้อรังที่ลูกหนี้มักเลือกจ่ายขั้นต่ำ ทำให้ระยะเวลาการเป็นหนี้ยาวนาน ควรพิจารณาแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ส่วนกลุ่มลูกหนี้ใหม่ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องกวดขันสถาบันการเงินให้อนุมัติสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในหัวข้อ “เอกชนกับการแก้ไขปัญหาความยากจน” ว่าการแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ยากเพราะต้องทำทั้งการแก้ความยากจนในระดับบุคคลไปจนถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลง ที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้เงินในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำถึงปีละประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำโดยตรงประมาณ 5 แสนล้านบาท และอีก 3 แสนล้านบาทเป็นงบประมาณที่ทำให้โครงการพิเศษแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อย่างได้ผล
หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจนคือการใช้พลังของภาคีเครือข่ายทั้งชุมชน เอกชน สถาบันการศึกษา และข้าราชการ โดยต้องกำหนดบทบาทของแต่ละภาคส่วนที่ชัดเจนและทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยความสามารถและจุดเด่นของชุมชนคือการผลิตสินค้าจากชุมชน แต่ชาวบ้านในชุมชนไม่เก่งเรื่องของการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือใช้ความรู้ทางวิชาการ และงานวิจัยเข้ามาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า และกระบวนการผลิตซึ่งในส่วนนี้สถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ และงานวิจัยเข้ามาใช้ในการพัฒนาสินค้าในชุมชน รวมทั้งส่งนักศึกษาหรือบุคลากรจากสถานศึกษาลงไปให้ความรู้กับระดับชุมชนมากขึ้น ส่วนภาคเอกชนก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างกลไกที่ทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น
ส่วนของภาคราชการบทบาทที่สำคัญคือเรื่องของการปลดล็อกข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุสรรคต่อการสร้างรายได้ของชุมชน ตัวอย่างในอดีต ที่เคยปลดล็อกข้อกฎหมายแล้วสร้างประโยชน์ต่อชุมชนทั่วประเทศได้ เช่น การทำธนาคารต้นไม้ การแก้กฎหมายให้สามารถทำป่าชุมชนได้ รวมถึงการส่งเสริมธนาคารชุมชนช่วยให้กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยสูง ๆ ให้กับธนาคารพาณิชย์
ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง พลัง ววน.กับการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ” ว่า การแก้ปัญหาความยากจนแบบชั่วคราวจะไม่ยั่งยืนและไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลก ดังนั้นหน้าที่ของนักวิจัย คือ การสร้างความเข้มแข็งของคนจนในสังคม และความเหลื่อมล้ำ โดยแผนงานโครงการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ที่ควรจะดำเนินการได้แก่ 1. งานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบาย 2. การวิจัยเพื่อเสริมสร้างพลังสังคมและชุมชน 3.งานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ทางวิชาการ และ 4. งานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
นายกฤษณะพงศ์ พงศ์แสนยากร นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานสัมมนา กล่าวว่าการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ในลักษณะของการสานพลังความรู้และพลังภาคีหลายภาคส่วนเพื่อ พัฒนาไปเป็นข้อเสนอส่งต่อให้รัฐบาล และรัฐสภาสำหรับใช้เป็นข้อมูลสู่การแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในระดับนโยบาย เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างมาก
โอกาสนี้นักวิชาการ นักวิจัย ได้ระดมความคิดเห็น ร่วมกับการสังเคราะห์สาระสำคัญของเวทีสัมมนาฯ สำหรับจัดทำเป็นข้อเสนอส่งมอบให้รัฐบาลชุดใหม่ และสมาชิกรัฐสภา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.สืบสานต่อยอดการทำงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ให้ทำหน้าที่เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ แบบต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรได้รับการยกระดับเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในแต่ละพื้นที่
3.การจัดสวัสดิการภาครัฐ ควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำ
4.เชื่อมโยงระบบข้อมูลครัวเรือนของประเทศ โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมบริหารจัดการระบบข้อมูล และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยเป็นปัจจุบันตลอดเวลา เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความจน และคุ้มค่างบประมาณ
5.สร้างเครือข่าย และกลไกกระบวนการช่วยเหลือคนจน และติดตามประเมินผล ภายใต้พลังความรู้จากงานวิจัยและพลังการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ และมีการบริหารจัดการโดยคนในพื้นที่
6.เสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง
7.ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่หน่วยงาน องค์กรธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลคนจน
8.พัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มหาวิทยาลัย ให้เป็นแหล่งจำหน่าย หรือกระจายผลิตผลคนจน