xs
xsm
sm
md
lg

‘พืชมงคล’เริ่มฤดูเพาะปลูก ห่วง‘เอลนีโญ’กดดันผลผลิตข้าวนาปี66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ ในช่วงครึ่งปีหลัง อาจกดดันผลผลิตข้าวนาปีของไทย ปีนี้ ลดลง 4 – 6 % จี้รัฐบาล วางแนวทางรับมือ

วันพืชมงคลของทุกปี เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ฤดูฝน และการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ราคาข้าวที่อยู่ระดับสูง จะจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ยังปลูกข้าวนาปี แม้จะเผชิญต้นทุนการผลิตที่สูง โดยราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงต่อเนื่อง มาจากความต้องการที่สูงขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบราคาธัญพืชโลก ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้าย สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวในผู้ผลิตหลัก และผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีน ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ

เมื่อความต้องการข้าวโลกสูง ในขณะที่ไทย มีความพร้อมด้านผลผลิตมากกว่าคู่แข่ง จึงเป็นโอกาสของไทย ในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น และส่งผลมายังราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ ให้ยืนอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.66) ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 16.3% และราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในประเทศ เพิ่มขึ้น 18.1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ไทย จะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นความเสี่ยง ที่ทำให้ผลผลิตข้าวนาปี อาจได้รับความเสียหายมากเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะในช่วงหลังการเพาะปลูกเดือนพฤษภาคมไปแล้ว จะเป็นช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมาก เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ก่อนจะพร้อมเก็บเกี่ยว จึงต้องติดตามปริมาณน้ำฝน และภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงที่เหลือของปีนี้ใกล้ชิด ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าปีก่อน และน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5%

หากช่วงแรกของการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ไม่รุนแรง รวมถึงภาวะฝนทิ้งช่วงกินเวลาไม่นาน คาดว่าผลผลิตข้าวนาปีในปีนี้ อาจลดลง 4.1 - 6% หรือ คิดเป็นประมาณ 25 ล้านตัน แต่หากเกิดภาวะแล้งจัด หรือ ฝนทิ้งช่วงนาน อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเสียหายมากขึ้น และอาจกระทบต่อเนื่องไปถึงผลผลิตข้าวนาปรัง และนาปีของไทยในปี 2567

สำหรับแนวทางรับมือ และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ วางแผนบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง เครื่องจักรสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูก ลดความเสียหายต่อผลผลิต และลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่เกษตรกรเอง ควรปรับลดต้นทุนการผลิต ด้วยการหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทดแทนปุ๋ยเคมี ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรบางส่วน ไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อย่าง มันสำปะหลัง ,อ้อย ซึ่งก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มราคาสูงตามตลาดโลกเช่นกัน เพื่อให้มีรายได้ทดแทน ท่ามกลางความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรที่มีมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น