xs
xsm
sm
md
lg

"ลุงธงชัย-ป้าพรพณา" เลี้ยงลูก 3 คนสมองพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่ท้อ จะดูแลตราบที่ลมหายใจยังมี!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ลุงธงชัย-ป้าพรพณา” ที่โชคชะตาพาให้ลูกเกิดมาพิการทางสมอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ถึง 3 คน สู้ดูแลด้วยความรักมานานเกือบ 30 ปีแล้ว



ณ อำเภอกงไกรลาศ จ.สุโขทัย มีพ่อแม่คู่หนึ่ง ซึ่งต้องเลี้ยงลูกพิการทางสมองถึง 3 คน “ลุงธงชัย สีฟ้า” วัย 61 และ “ป้าพรพณา” วัย 52 มีลูกด้วยกัน 4 คน แม้คนโตจะปกติดี แต่อีก 3 คนกลับมีปัญหาด้านสมอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาเกือบ 30 ปีแล้ว


“(ถาม-ลูก 3 คนช่วยเหลือตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน?) ไม่ได้เลย เขาไม่ค่อยอยากจะเดิน เพราะเขายกเท้าไม่สูงไง เขาจะวนเวียน เขาไม่รู้กลางวันกลางคืน ง่วงตอนไหนก็นอน กลางคืนก็นั่ง กลางวันก็หลับอย่างเดียว คนหนึ่งตอนคลอดมาก็ไม่สบตา ไม่พัฒนาอะไรเลย อีกคนพูดไม่ได้ จะมีอารมณ์ ถ้าเขาจะไปเที่ยวไหน เขาจะทุบบ้านทุบอะไร ทุบเท้าปึงปังๆ ร้อง ถ้าอยากจะไป เขาพูดไม่ได้ คนที่ 4 เราไม่ได้ตั้งใจให้มีนะ แม่พลาด คุมกำเนิด แต่แม่พลาด ไม่รู้ด้วยเรื่องอะไรหรือเวรกรรมของเราก็ไม่รู้ (ถาม-สาเหตุของการผิดปกติของลูก เรามีการฝากครรภ์หรือเช็คก่อนไหมว่า การตั้งครรภ์มีผิดปกติไหม?) เช็ค ไม่ผิดปกติอะไรเลย ปกติทุกอย่างเลย พอคลอดถึงรู้ว่าผิดปกติ”


ขณะที่ลุงธงชัย เผยว่า“อย่างคนเล็กนี่เราฝากครรภ์กับหมอพิเศษนะ ยอมเสียตังค์ไง ลองดู เขาก็ว่าดีทุกอย่าง ปกติ พอถึงกำหนด ก็ต้องผ่าออก ตรวจสมอง สุขภาพร่างกาย เขาก็ว่าปกติดี (ถาม-แล้วมารู้ว่าผิดปกติตอนไหน?) เราเลี้ยงไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่าเด็กไม่ค่อยพัฒนา จะคลานก็ไม่คลาน ลูกทั้งหมด 4 คน มีคนโตไม่ผิดปกติ”


ป้าพรพณา เล่าว่า สมัยก่อน ต้องทำงานไปด้วย ดูแลลูกไปด้วย แต่การทำมาค้าขายยังดีกว่าในปัจจุบัน

“เมื่อก่อนนี้ ตอนเขายังเล็กๆ อยู่ แม่ขายของ ขายก๋วยเตี๋ยวขายอาหารตามสั่ง เลี้ยงลูกด้วย พ่อก็ไปนา ใช้ชีวิตปกติ แม่ก็ขายของไป วิ่งเลี้ยงลูกไป ไม่มีคน ก็วิ่งไปป้อนข้าวทีละคำ แล้วก็ออกมาหน้าบ้าน เวลาพ่อเขากลับจากนา พ่อเขาจะช่วย แต่ถ้าพ่อนอนนา ตัดไปเลย แม่รับผิดชอบคนเดียว เพราะต้องทำนาให้เสร็จ 2 คนต้องช่วยกัน ต้องต่อสู้”


“สมัยก่อนนั้น เศรษฐกิจมันดี ขายของก็ขายดี เราอายุยังไม่มาก เราก็ต่อสู้มา เมื่อก่อนอะไรก็ไม่แพง ขายดี ได้เงินมาก็เก็บหอมรอมริบสร้างนั่นนี่ได้ แต่ ณ ตอนนี้อย่าไปหวัง ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ไม่ได้เลย แต่ถ้าเราคิดว่า ทำแล้วท้อ เราก็อยู่ไม่ได้ เราถือว่าเรามีกำลังแรงใจอยู่ เราก็สู้ต่อไปอย่างนี้ สักวันก็ต้องดี คิดว่าดีอย่างเดียว อย่าไปคิดว่าไม่ดี ถ้าคิดว่าไม่ดี เราก็ไม่มีแรงต่อสู้”


เมื่อลูกๆ โตขึ้นทุกวัน ขณะที่พ่อแม่ก็ร่างกายถดถอยลงตามวัย การเลี้ยงดูลูกที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ถึง 3 คนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ลุงธงชัยต้องเป็นเสาหลักในการทำงาน ส่วนป้าพรพณาก็ดูแลลูกเป็นหลัก


“ทุกวันนี้สุขภาพป้าแย่มาก ทั้งหัวเข่า ทั้งเบาหวาน เบาหวานก็ขึ้น บางทีถ้าขึ้นมา ไม่ต้องทำอะไร หาวนอน บางทีจะนอนให้ชื่นใจ พ่อก็ไม่อยู่ เดี๋ยวลูกคนโน้นถ่าย ก็ต้องแบกไปอาบน้ำ จะนอนซะหน่อย ได้เวลากินข้าวอีกแล้ว”


“(ถาม-แล้วเหตุผลที่เราหยุดขายก๋วยเตี๋ยวเพราะอะไร จริงๆ ก็เป็นรายได้อยู่?) ไม่ไหวแล้ว เพราะเขา 3 คน ภาระมันเยอะ ทั้งขับถ่าย อาบน้ำ กินยา อาการเขาจะรุนแรงขึ้น เราขายของ ถ้าอีกคนหนึ่งอ้อน เราก็ต้องพาเขาออกข้างนอก ใส่รถพ่วงไป เหมือนสงบสติอารมณ์ ให้ไปดูสิ่งข้างนอกข้างทางว่าบรรยากาศเป็นยังไง แล้วเขาก็หาย อารมณ์เขาเริ่มรุนแรงขึ้น (ถาม-ทิ้งไม่ได้เลย?) ไม่ได้ มือเขาจะตีกระดานจนเล็บเสียดำ อีกคนเขาปวดฟันหรือเป็นอะไร เราก็ไม่รู้ เขาจะกัดมือ เลยทำให้เราหากินลำบากขึ้นทุกวันนี้ ตอนนี้พ่อเขาทำงานคนเดียว”


“(ถาม-ปัจจุบันลุงมีปัญหาสุขภาพอะไรไหม?) มีทั้งความดัน ไขมัน กินยา รับยาที่ รพ.ตัวอำเภอกินประจำ หมอบอก ความดันสูง จะลดลงก็ยาก ก็ต้องกินยาคอยคุม เราก็กินไปเรื่อย ออกไปทำนา ก็ทำทุกอย่างตั้งแต่เริ่มย่ำ หว่านปุ๋ย ฉีดยาทุกอย่าง ทำเอง ไม่ค่อยได้จ้าง จ้างเขาส่วนน้อย”


แม้ไม่ได้มีงานหลัก นอกเหนือจากเลี้ยงดูลูกๆ แต่ป้าพรพณาก็มีงานเสริมอยู่บ้าง แม้คาดหวังเรื่องรายได้ค่อนข้างยากก็ตาม

“ขายกล้วยไม้ ตอนนี้ขายไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีคนซื้อ (ถาม-ทำไมสนใจทำกล้วยไม้?) คิดว่า เราลงทุนสัก 5 กระถาง เอามาเลี้ยง พอแตก ก็ขยายๆ เราก็จะได้เงิน ทีนี้เราคิดก็สมความปรารถนา ขยายได้ ก็ขายได้ พอขายได้ปุ๊บ เราก็เอาเงินนั้นมาซื้อกล้วยไม้ ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนนี้พอขายได้ แต่ ณ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว”


เมื่อรายได้หลักมีทางเดียวจากการทำนา และไม่พอต่อรายจ่าย การกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ก็มีเงินคนพิการบ้าง และบัตรคนจนบ้าง เราได้มาเราก็ไปซื้อแฟซ่า สบู่ ยาสีฟันให้ลูก น้ำมัน น้ำตาลแค่นั้น รายได้ของพ่อ ก็นา นาก็หมุนเวียน ตอนทำ ก็ไปเอาของเขามากิน พอได้ก็คืนเขา มาหมุนเวียนใช้จ่าย อันไหนประหยัดได้เราก็ประหยัด (ถาม-แล้วรายได้จากการทำนา พอเลี้ยงดูครอบครัวไหม?) ไม่พอ เพราะรายจ่ายเรามันสูง (ถาม-ทุกวันนี้มีหนี้สินไหม?) มี อยู่ที่ ธกส. (ถาม-เรากู้มาทำอะไร?) กู้มาใช้จ่าย ลงทุนบ้าง อะไรที่เราขาดเหลือ เราไม่มี เราก็ต้องกู้เขามาก่อร่างสร้าง ลำบากหลายอย่าง เราคิดว่าเรายังมีแรงอยู่ เราก็ทำส่งบ้าง”


ป้าพรพณา ยอมรับว่า เคยเหนื่อยเคยท้อจนอยากคิดสั้น แต่เมื่อคิดได้ จึงตัดสินใจสู้ต่อ

“(ถาม-ในสภาวะแบบนี้มีท้อมีคิดอยากจะยอมแพ้กับชีวิตบ้างไหม?) มี บางครั้งบอกเลยว่ามี คิดนะว่าถ้าจะทำอะไรตัวเอง ต้องเอาลูกไปด้วย จะไม่ไปด้วยตัวเองคนเดียว ทำไม่ได้ คิดนะ ถ้าเราทำ เราตาย ลูกไม่ตาย ลูกจะอยู่ยังไง และถ้าลูกตาย แล้วเราไม่ตาย สังคมเขาจะมองเรายังไง แล้วเราทำไปเพื่ออะไร ความคิดนั้นไม่มีแล้ว ณ ตอนนี้ไม่มีเลย ไม่คิดแล้ว เลิก คิดอย่างเดียว ยังมีลมหายใจ สู้กันต่อไป”


ขณะที่ลุงธงชัย ในฐานะพ่อของลูก ไม่ค่อยเครียดกับภาวะที่เป็นอยู่ ทั้งยังคอยให้กำลังใจภรรยาไม่ให้ท้อถอยอีกด้วย

“เหมือนไม่ค่อยทุกข์เท่าไหร่ มีมอเตอร์ไซค์เก่าๆ คันหนึ่ง เอาไปต่อพ่วงข้าง พาเขาเที่ยว บางคนบอก แกขยันเอาลูกเที่ยวเนอะ เอาไปให้เขาเห็นข้างนอก มีจักรยาน ก็ใส่พ่วงข้างพาเขาขี่เล่น เหมือนเราก็สบายใจไปด้วย ไม่ทุกข์ บางทีไปจอดบ้านโน้น ไปนั่งเล่นอะไรกับเขาบ้าง เด็กก็สบายใจ (ถาม-แล้วภรรยาเราเครียดไหม?) เขาก็มีของเขา ไม่เหมือนผม ผมไม่ค่อยเครียด ผมไม่ค่อยสนใจ พอเห็นลูกเราไม่ดี เราก็ไม่ต้องคิดมาก คิดแค่ธรรมดา เราเลี้ยงเขาไป ดูเขาไป (ถาม-เราให้กำลังใจภรรยายังไง?) บอกว่าอย่าไปท้อถอยเลย ยังไงลูกเราก็เป็นอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องดุด่าหรือว่าอะไรเขา เขาไม่รู้ เราจะไปดุเขา เขาก็ไม่รู้ ปล่อยไปอย่างนั้นแหละ”


“(ถาม-มีวันไหนที่เรารู้สึกเหนื่อยกับการดูแลลูกไหม เพราะเราก็ทำงานหนัก?) เหนื่อย บางทีคนที่บ้านป่วย เราก็เหนื่อยหนักนะ บางทีกลับมาบ้าน มาทำกับข้าวให้ลูกกินอีก ไม่เป็นไร เราก็ทำของเราเรื่อยไป ทำเสร็จ ก็มาป้อน อาบน้ำ เอาขึ้นนอน ก็ทำอย่างนี้จนเคยชิน เราทิ้งเขาไม่ได้ (ถาม-สำหรับลุง เคยคิดทอดทิ้งลูกกับภรรยาไหม?) ไม่คิด ถ้าทะเลากัน บางทีเราคิดนะ ทิ้งหนีเขาไป เขาก็จะรับกรรมมาก ถ้าเราไปคนหนึ่ง คนดูแลเขาไม่มี ดูแลคนเดียว และดูแลได้ไม่ดีเหมือนเรา เพราะเขาไม่ค่อยออกไปไหนกัน ผมอยู่ ผมจะพาเที่ยวไปโน่นนี่ ไปตามร่มไม้ เขามีงานวัด เราก็พาขี่นั่งรถไปเล่น”


เหนื่อย แต่ท้อไม่ได้ ต้องเดินหน้าอย่างเดียว!

“(ถาม-ถึงวันนี้ ก็ 30 ปีแล้วที่เลี้ยงลูก ลุงเหนื่อยไหม?) เหนื่อยก็เหนื่อยนะ เพราะเริ่มอายุมาก (ถาม-มีท้อแท้ไหม?) ท้อไม่ท้อหรอก เพราะเราท้อไม่ได้แล้ว ถ้าเราท้อ มันก็จบหมด เป็นผู้นำ ท้อไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไปตลอด”


“(ถาม-ลุงฝากให้กำลังใจผู้ปกครองหรือครอบครัวที่มีภาวะอย่างนี้ให้เข้มแข็งได้อย่างไร?) ถ้ามีลูกพิการอย่างนี้ อย่าไปคิดอย่างอื่น คิดถึงแต่ลูกเรา แล้วอย่าไปท้อ ตั้งใจดูแลเขา เราก็ต้องสู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเรากับเขาจะอยู่ด้วยกันเท่าไหร่แค่นั้น”


หากท่านใดต้องการช่วยเหลือครอบครัวลุงธงชัยและป้าพรพณา สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี นางพรพณา สีฟ้า เพื่อเด็กชายธันวา สีฟ้า เลขบัญชี 536-2-43538-1


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ดวงใจพ่อดวงใจแม่”
https://www.youtube.com/watch?v=gzbuW0UF-zo


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น