รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ลุงเดช” โชเฟอร์แท็กซี่ แม้แท็กซี่ในเมืองไทยจะมีจำนวนมาก แต่เชื่อว่า ถ้าใครได้นั่งแท็กซี่ของลุงเดช จะได้รับทั้งความสะดวกสบาย และประทับใจกับสิ่งที่ลุงจัดไว้บริการฟรีบนรถ นอกจากนี้ลุงเดชยังเปี่ยมด้วยน้ำใจ ไม่คิดค่าโดยสารพระ-แม่ชี-คนพิการ และคนชรา อีกด้วย
ก่อนจะมายึดอาชีพขับแท็กซี่ "ลุงเดช" เดชธนู เบ็ญจรูญ หนุ่มใหญ่ชาว จ.ร้อยเอ็ด ที่เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก เคยทำงานร้านเบเกอรี่มาก่อน เริ่มตั้งแต่เป็นลูกจ้าง กระทั่งออกมาทำกิจการของตัวเอง แต่สุดท้าย ปัญหาสุขภาพ ทำให้ต้องตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ
"ทำอยู่นาน 26 ปี ก็ออกมาทำเบเกอรี่ของตัวเอง ด้วยความมั่นใจส่วนหนึ่งว่าตัวเองทำได้ดี ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชอบ แต่ทำเองได้ประมาณ 2 ปี รู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว เราใช้แรงเยอะ ทำทุกอย่างด้วยตัวเองกับภรรยา พอออเดอร์เยอะ เราก็โหมงานหนักขึ้น เร่งงาน ไม่ค่อยได้พักผ่อน มีปัญหาหลังไม่ดี ปวดหลัง เลยเลิก"
หลังจากนั้น ลุงเดชได้เปลี่ยนอาชีพมาขายอาหาร ขายข้าวหมูแดงหมูกรอบ เป็ดย่างฮ่องกง และก๋วยจั๊บน้ำข้น กับภรรยา ที่ตลาดย่านปิ่นเกล้า แต่ขายได้ 3-4 ปี ก็เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ด้วยต้นทุนการขายอาหารที่ค่อนข้างสูง บวกพิษโควิด ที่ทำให้ตลาดถูกสั่งปิดบ้างเปิดบ้าง สุดท้าย ลุงเดชแบกภาระต้นทุนไม่ไหว จึงตัดสินใจเลิกขายอาหาร แล้วหาอาชีพใหม่
"คิดอยู่นาน หาอาชีพเหมือนกัน ด้วยวัย ด้วยสรีระ พอดีเห็นแท็กซี่ เพื่อนขับแท็กซี่อยู่ 1.เราขับรถเป็น 2.เราอยู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก เรื่องเส้นทางก็ไม่มีปัญหา จึงลงตัวที่อาชีพนี้"
แม้อาจดูเหมือนง่ายว่า ใครๆ ก็ขับแท็กซี่ได้ แต่เมื่อแท็กซี่บนท้องถนนมีจำนวนมาก ลุงเดชจึงพยายามสร้างความแตกต่างให้กับแท็กซี่ที่ตัวเองขับ รวมทั้งอยากลบภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับแท็กซี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการโกงมิเตอร์ ลุงเดชจึงยึดหลัก 5 ส.ในการทำงาน
"ขับแท็กซี่เป็นงานบริการ ผมก็คิดว่า แบรนด์เราควรเป็นยังไง ผมคิดไว้มี 5 ส. สะดวก สะอาด สบาย ใส่ใจ และซื่อสัตย์ ผู้โดยสารขึ้นรถ จะต้องได้รับความสะดวก ปรับเบาะให้ผู้โดยสารนั่งสะดวก รถต้องสะอาด ผมจะอธิบายว่า ในรถมีอะไรบริการบ้าง ผู้โดยสารก็จะสบายใจ เราต้องมีความใส่ใจ เวลาผู้โดยสารจะไปสนามบิน หรือไป รพ. เราจะทวนผู้โดยสารทุกครั้งว่า ลืมสิ่งของจำเป็นไหม เช่น บัตร รพ. ซองยา โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ส.สุดท้ายคือ ซื่อสัตย์ เราต้องไม่หาประโยชน์จากผู้โดยสาร ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่โกงมิเตอร์"
แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องเส้นทางในการขับแท็กซี่ แต่ลุงเดชยอมรับว่า ช่วงแรกๆ ที่มายึดอาชีพนี้ ขาดทุนทุกวัน เพราะไม่ทราบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่เดินทางช่วงไหน เวลาไหน จุดไหนจะมีผู้โดยสารเยอะ ลุงเดชจึงใช้วิธีจดบันทึกการขึ้น-ลงของผู้โดยสารทุกวัน เพื่อให้รู้เส้นทางและเวลาที่สามารถหาผู้โดยสารได้ง่าย ทำให้มีลูกค้ามากขึ้น
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ลุงเดชยังยึดอาชีพขับแท็กซี่อยู่ได้ คือ บริการเสริมที่น่าประทับใจที่จัดไว้ภายในรถ ทั้งของกินของใช้ที่ให้ผู้โดยสารหยิบกินหยิบใช้ได้ฟรี ไม่จำกัดจำนวน หรือจะหยิบติดมือกลับบ้าน ก็ไม่ว่ากัน
"ในรถมีบริการน้ำดื่ม มีหน้ากากอนามัย ของว่าง ทุกอย่างในรถ บริการฟรีนะครับ ประตูซ้ายจะมีถุงผ้าสีเขียวกับสีเหลือง จัดเตรียมไว้เผื่อผู้โดยสารเข้าร้านสะดวกซื้อ เข้าห้าง ส่วนประตูขวาจะมีถุงหิ้วไว้สำหรับเข้าตลาดสด มีเสื้อกันฝนและร่ม พร้อมทั้งไม้เท้า มียาแก้ปวด พาราฯ เกลือแร่ อีโน ยาดม พลาสเตอร์ปิดแผล ฯลฯ ทุกอย่างบริการฟรี ไม่จำหน่ายนะครับ เราเติมให้เต็มตลอด ไม่ให้หมด"
ลุงเดช เผยที่มาของการจัดไม้เท้าไว้บริการฟรีด้วยว่า"เวลาไปส่งผู้โดยสารตาม รพ.ต่างๆ จะเห็นผู้สูงอายุที่มา รพ. หรือพระภิกษุชราภาพ ผู้ป่วย เดินไม่สะดวก ผมเลยจัดเตรียมไม้เท้านี้มา เวลาเขาได้เอาไปใช้ เขาคงคิดถึงเรา คงเป็นภาพจำที่งดงาม คิดทีไรผมรู้สึกมีความสุข”
"ตอนแรกๆ ที่เริ่มขับแท็กซี่ ยังไม่ได้จัดของไว้บริการบนรถ ผู้โดยสารหิวน้ำ ไม่มีครับ น้ำไม่มี เขาก็ไม่ว่าอะไร ครั้งที่สอง ผมจำได้ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังขึ้นรถ เขาบอก พี่เพิ่งรับตำแหน่ง มีถุงไหม พอดีผมมีถุงหิ้วอยู่ใบหนึ่ง เขาบอก ไม่เอา พี่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่ มันเสียภาพลักษณ์ ผมมีกระเป๋าอยู่ใบหนึ่งซึ่งมันพิเศษมาก มันพับเก็บเป็นสี่เหลี่ยม พอรูดออกมา จะเป็นถุงอย่างสวยเลย แบบนี่ได้ไหมครับ เขาบอก ได้ โห! เข้าทางเลย ผมก็เลยต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ไว้ให้ผู้โดยสาร ซึ่งผมจะทำอยู่แล้ว แต่มีผู้โดยสารเอ่ยปากขอ ก็เลยจัดเตรียมสิ่งนั้นสิ่งนี้มาในรถ ก็พยายามทำให้ครอบคลุมการใช้ชีวิตของผู้โดยสารแต่ละคน”
นอกจากจัดของกินของใช้ไว้บริการผู้โดยสารฟรีแล้ว หากผู้โดยสารเป็นพระ-แม่ชี-คนพิการ หรือคนชรา ลุงเดชก็ไม่คิดค่าโดยสารอีกด้วย
“เมื่อก่อนผมเคยรับเงินจากผู้พิการ กับพระภิกษุนะ พอกลับบ้าน ผมเป็นทุกข์ คิดว่าเราขับรถ ทำไมผู้โดยสารขึ้นรถ เราต้องได้เงิน ผมก็นั่งคิด จะออกจากทุกข์นี้ได้ยังไง ตั้งแต่วันนั้นมา ผมไม่รับเงินค่าโดยสารจากพระภิกษุ ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุบางคน ที่เดินทางคนเดียว ผมไม่รับ จากที่เป็นทุกข์อยู่ ผมกลับรู้สึกเป็นสุขล้นเลย”
ถึงวันนี้ ลุงเดชยึดอาชีพขับแท็กซี่มา 3 ปีแล้ว แต่ละวันมีผู้โดยสารที่ใช้บริการประจำหลายคน เพราะไว้วางใจในตัวลุงเดชและการให้บริการ ขณะเดียวกัน ลุงเดชก็รู้สึกประทับใจผู้โดยสารประจำเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่ผู้โดยสารเรียกใช้งาน และพร้อมรอให้ลุงเดชตีรถไปรับ แม้จะอยู่ไกลและใช้เวลาก็ตาม
“บางทีผมอยู่สามพรานนะ จากสามพรานมารับผู้โดยสาร 70 กม. รอผม ชม.ครึ่งนะครับ เดี๋ยวผมตีรถมา ได้ จะรอ ถามว่าผมมีค่าใช้จ่ายไหม มี แต่ผมไม่กดมิเตอร์ในการไปรับ ผู้โดยสารให้ผมไปรับถึงบ้านบึง ผมก็ไม่กดมิเตอร์ไป ผมทำอย่างนี้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าค่ารถคือ เขาอยากใช้เรา ความไว้วางใจที่เขามีให้เรานี่สำคัญมากเลย เราต้องรักษาตรงนี้ไว้ อย่าไปคิดถึงกำไรขาดทุน เราควรรีบให้บริการเขา เพราะความไว้วางใจนี้จะยั่งยืนและยาวนาน”
ไม่เพียงไว้วางใจ แต่ผู้โดยสารหลายคนยังอยากตอบแทนน้ำใจและความดีที่ลุงเดชทำเพื่อผู้โดยสารและสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนอีกด้วย
“บางทีผู้โดยสารประจำเขาไปเที่ยวมา เขาก็จะมีของมาฝาก ผู้โดยสารบางคนที่เขาขึ้นรถผม เห็นเราจัดของไว้บริการฟรีแบบนี้ เขาบอก แท็กซี่แวะปั๊มหน่อย จะซื้อของมาให้เติมบนรถ เพื่อให้ผู้โดยสารคนต่อๆ ไป ...ผู้โดยสารบางคน เวลาไปส่งถึงบ้าน เขาชวนทานข้าว ก็บ่อย บางคนเห็นความประทับใจในรถ พอจะลงรถ ผมก็เอ๊ะ ทำไมยังไม่ลง เขาบอก แท็กซี่มานี่ดิ มาให้เกาะเข้าบ้านก็มี และบอกว่า ถ้าผ่านทางนี้นะ แวะมาที่บ้าน เขาจะเตรียมของไว้เติมในรถ ส่วนใหญ่ผมจะมีผู้โดยสารมาช่วยส่งเสริมและเติมใจทุกวัน...“
“ผมจะย้ำกับผู้โดยสารเสมอว่า ของในรถบริการฟรีทุกอย่าง ไม่จำกัดจำนวน และจะไม่มีวันหมดอะไรใกล้จะหมด ผมก็ซื้อมาเติม ผมอยากให้ผู้โดยสารขึ้นรถผมแล้วสบายใจ มีความสุข และประทับใจ”
หากท่านใดต้องการใช้บริการแท็กซี่กับลุงเดช สามารถโทรไปได้ที่ 092-851-1807
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “แท็กซี่...หัวใจงาม”
https://www.youtube.com/watch?v=LpVIFvihEJY
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos