xs
xsm
sm
md
lg

นับหนึ่ง FTA ประวัติศาสตร์ ไทย-อียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทย-อียู เริ่มต้นกระบวนการ นำไปสู่การจัดทำ เอฟทีเอ 2 ฝ่าย สร้างแต้มต่อให้ไทย ขยายตลาดใหม่ 27 ประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือทวิภาคีกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับสหภาพยุโรป เพราะที่ผ่านมา ไทยใช้ความพยายามในการทำ FTA กับสหภาพยุโรปมาแล้วเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งในลักษณะนี้ได้ ครั้งนี้การเจรจามีผลสัมฤทธิ์ โดยฝ่ายการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปเริ่มต้นให้แต่ละฝ่าย ดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกัน

ในส่วนของประเทศไทย จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในการจัดทำ FTA ไทย-อียู ต่อไป ขณะที่ฝ่ายสหภาพยุโรป ก็จะนำผลหารือ ไปดำเนินการภายใน เพื่อขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศ เพื่อประกาศนับหนึ่ง เริ่มต้นเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งทั้งสองฝ่าย ตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้

สหภาพยุโรป(EU) เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทย ส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านดอลลานร์สหรัฐ หรือ 843,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.17%

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ,รถยนต์และอุปกรณ์ ,แอร์และอุปกรณ์ ,ผลิตภัณฑ์ยางพารา ,อัญมณีและเครื่องประดับ ,ไก่แปรรูป

ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล ,เคมีภัณฑ์ ,ยา

ปัจจุบันอียู มี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ หากกระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมาย ไทย จะเป็นประเทศที่ 3 และหากประสบความสำเร็จ ไทยจะมีตลาดการค้าที่ได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ เป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น