xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน ชงแผนขับเคลื่อนศก./สังคม บนเวทีผู้นำAPEC 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคเอกชน  ภายใต้การนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จัดทำแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเสนอต่อผู้นำเอเปค สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน และก้าวข้ามความท้าทายของการดำเนินธุรกิจ


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC) กล่าวว่า หลังจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ผ่านการประชุมใหญ่มาตลอดปีรวม 3 ครั้ง จนถึงวันนี้ ได้ข้อสรุปข้อเสนอแนะ 5 หัวข้อหลัก 69 ข้อย่อย ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 แนวทาง คือ “การส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” และ “การกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และมีความยืดหยุ่น” ซึ่งคณะทำงาน จะส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์แก่ผู้นำ ในช่วงการประชุมเอเปค 2022

นายเกรียงไกร กล่าวว่า คำแนะนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในปีนี้ รวบรวมขึ้นโดยมีฉากหลังของความขัดแย้งและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งพบความท้าทายหลายด้าน เช่น ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ,ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการระบาดใหญ่ ,การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ที่บั่นทอนความสามารถของภูมิภาค ในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเอเปค ที่กำหนดให้เป็นชุมชนเอเชียแปซิฟิก ที่เปิดกว้าง มีพลัง ยืดหยุ่น และสงบสุขภายในปี 2040 เพื่อความมั่งคั่งของประชาชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

นอกจากข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบายแล้ว สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ยังรับหน้าที่การเป็นประธานและเจ้าภาพจัดประชุม “เอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2002” (APEC CEO Summit 2022 )ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายนนี้ เป็นการประชุมที่รวมผู้นำเขตเศรษฐกิจ, ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำ มาแลกเปลี่ยนมุมมองทางการค้า การลงทุน การขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้ชุมชนเอเชียแปซิฟิค ผนึกความร่วมมือ และผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน


นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค เห็นความสำคัญต่อการมีข้อมูลเชิงลึกประกอบการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ จึงได้รับความร่วมมือจาก PwC เป็นพันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) ของ APEC CEO Summit 2022 ส่งมอบรายงาน (Thought Leadership) ภายใต้ชื่อ ‘การรับมือต่อโลกแห่งความเป็นจริงใหม่’ (Asia Pacific’s Time: Responding to the new reality) เป็นแนวทางของภาคธุรกิจในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของเอเปคด้วย

ด้าน มร.ศรีดารัน ไนร์ (Mr.Sridharan Nair) รองประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงการสนับสนุนด้านรายงาน ฉบับนี้ว่า ธุรกิจต่างๆล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและนำพาภูมิภาคนี้ไปสู่อนาคต ในฐานะขุมพลังทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน 

สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ เปลี่ยนความไม่แน่นอนของความเป็นจริงในวันนี้ให้เป็นโอกาส ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องมีความกล้าที่จะปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจ และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งเราพบว่า มีปัจจัยห้าประการที่มีความสอดคล้องและส่งเสริมกัน ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตขององค์กรระดับภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังแรงงาน และภูมิทัศน์ของ ESG ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในภูมิภาคมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น