สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ตอกย้ำความสำคัญ “วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day)” 8 พฤศจิกายน กับแนวคิดย่านนวัตกรรม ผังเมืองที่คำนึงที่คุณภาพชีวิต และการกระจายตัวของโอกาสบนพื้นที่ที่หลากหลาย
การวางผังเมือง (Urban Planning) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากมีการกำหนดนโยบายการจัดทำผังเมือง – การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ชัดเจน จะยิ่งเกิดประโยชน์ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรที่อยู่ในแต่ละเมืองให้ดีขึ้น เช่น ระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัยส่วนรวม การเดินทาง จุดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าเมืองที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดี ล้วนมีระบบการออกแบบผังเมืองที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นเมืองบาร์เซโลน่า (ราชอาณาจักรสเปนสเปน) กรุงเบิร์น (สมาพันธรัฐสวิส) กรุงปารีส (สาธารณรัฐฝรั่งเศส) ซึ่งนอกจากผังเมืองจะมีความเป็นระเบียบแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อกิจกรรมได้สะดวกและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
จากความสำคัญดังกล่าว วันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day)” เพื่อรำลึกถึงการวางแผนเมืองที่สำคัญ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2492 โดยศาสตราจารย์คาร์ลอส มารีอา เดลล่า เปาเลร่า ผู้ล่วงลับ แห่งมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ที่พยายามสนับสนุนให้การวางแผนเมืองและชุมชนต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเมือง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำหนดวันผังเมืองโลกก็เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทของนักวางผัง พร้อมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้ในการวางแผนเมืองและชุมชนที่มีคุณภาพ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผัง และผู้ที่มีบทบาทด้านการพัฒนาเมืองและชุมชนจะมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในมิติต่างๆ ของการพัฒนาเมือง สอดคล้องไปกับแนวคิด New Urban Agenda, Sustainable Development Goal 11 และ Sustainable Cities and Communities
จากผังเมืองที่ดีสู่ “ย่านนวัตกรรม” พื้นที่เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต
สำหรับประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เมืองและชุมชน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เมืองและชุมชนสามารถเพิ่มพูนศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสมต่อการประกอบธุรกิจและการดําเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาย่านนวัตกรรม หรือแม้แต่การพัฒนาเมืองนวัตกรรม ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสู่พื้นที่ได้ ทั้งยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมที่มีศักยภาพ กระตุ้นให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการในพื้นที่ เช่น พื้นที่ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแนวคิดหลักสำหรับตอบรับการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถเติบโตด้วยตนเองจากกลไกการขับเคลื่อนนวัตกรรมในพื้นที่ ด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาให้พื้นที่ย่านนี้ให้เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดี
การขับเคลื่อนดังกล่าวมุ่งเน้นในเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการผลักดันนวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการเกษตร พร้อมทั้งยังผลักดันให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มคนในท้องถิ่น เพื่อให้มีศักยภาพในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลิตสินค้านวัตกรรมเข้าสู่ตลาดคุณภาพ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนลดการย้ายถิ่นฐานโดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างอาชีพในพื้นที่ อันเป็นผลจากการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่าย และการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม (Up Skill) ให้กับคนในพื้นที่ เพื่อให้ย่านนวัตกรรมเติบโตและมั่นคงได้อย่างยั่งยืน
'ย่านนวัตกรรม' อาจเปรียบเสมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มุ่งสนับสนุนบุคลากร ธุรกิจ กลุ่มคลัสเตอร์และสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม 4 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์ทางกายภาพ (Physical Assets) ซึ่งคือพื้นที่สาธารณะ ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่ออกแบบและจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อความร่วมมือและนวัตกรรม เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ห้องวิจัยจากรัฐและเอกชน สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ (Economic Assets) เป็นบริษัท สถาบัน และองค์กรที่ขับเคลื่อนการปลูกฝังหรือสนับสนุนสภาพแวดล้อมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม สินทรัพย์ทางเครือข่าย (Networking Assets) ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล บริษัท และสถาบันที่มีศักยภาพในการสร้างความคมชัดและเร่งพัฒนาความคิด เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและระหว่างบริษัทกับกลุ่มอุตสาหกรรม และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) มูลค่าการลงทุนใหม่ที่มาในรูปแบบโลกเสมือนจริง
ปัจจุบัน NIA ดำเนินการพัฒนาย่านนวัตกรรมทั่วประเทศในกรุงเทพฯ จำนวน 8 ย่าน ได้แก่ โยธี กล้วยน้ำไท อารีย์ ปุณณวิถี รัตนโกสินทร์ ปทุมวัน คลองสาน และลาดกระบัง ภาคตะวันออก 4 ย่าน ได้แก่ บางแสน ศรีราชา พัทยา บ้านฉาง-อู่ตะเภา ภาคเหนือ 2 ย่าน ได้แก่ สวนดอก และแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ย่าน ได้แก่ ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งการเปิดพื้นที่ย่านใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ 1 ย่าน ได้แก่ กิมหยง จังหวัดสงขลา ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีจุดเด่ดและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป
“ปุณณวิถี” ตัวอย่างกรณีศึกษากับการเป็น “Bangkok CyberTech District”
ปุณณวิถี กำลังจะเป็นอีกย่านนวัตกรรมที่สำคัญของกรุงเทพ ภายใต้แนวคิด “Bangkok CyberTech District” คือ การพัฒนาย่านที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็น“ย่านแห่ง Live-Work-Learn-Play” ที่ NIA ได้นำไปต่อยอดแผนการพัฒนาย่านทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว
โดยในมิติ “Live” ย่านแห่งนี้เป็นที่พักอาศัยของคนหลากหลายกลุ่มและสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ไม่แพ้เขตในเมือง มีการใช้ Big Data เข้ามาบริหารจัดการเมืองและที่อยู่อาศัย
มิติ “Work” เป็นพื้นที่เหมาะกับคนทำงาน และเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพที่สำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งมีทรูดิจิทัลพาร์คเป็นจุดดึงดูดสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาในพื้นที่ และมีบริษัทตั้งอยู่มากกว่า 2,000 บริษัท โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ พลังงาน การเงิน และดิจิทัล ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วง 5 ปี จะมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลถึงปีละกว่า 12,000 อัตรา
มิติ “Learn” พื้นที่แห่งการเรียนรู้และบ่มเพาะผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และสุดท้ายมิติ “Play” พื้นที่สำหรับพักผ่อนและสร้างเครือข่ายด้วยบรรยากาศน่าอยู่ที่มีพื้นที่สีเขียวรายล้อมตลอดเส้น ทางเท้ากว้างขวาง และมีคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ให้ได้พบปะสังสรรค์กัน
โลกยุคใหม่ ไม่ได้วัดเพียงแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการแข่งขันในเรื่องกำลังการผลิต แต่ยังมองเรื่องการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ และการสร้างโอกาสให้กับการอยู่อาศัยได้อย่างหลากหลาย ซึ่ง “ย่านนวัตกรรม” เป็นอีกรูปแบบการพัฒนาเมืองที่มีความน่าสนใจ และเหมาะสมกับบริบททางพื้นที่ต่าง ๆ ภายในประเทศที่ต้องอาศัยการเชื่อมโยงความสามารถจากหลาย ๆ กลุ่ม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้น