xs
xsm
sm
md
lg

“ใบเตย” นักชกยอดกตัญญู ยอมสละการเรียน มาชกมวยหาเงินช่วยเหลือครอบครัว-ส่งน้องเรียน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 29 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “น้องใบเตย” หรือชื่อในวงการมวยว่า “ปรางทิพย์ ศ.เต่าเหล็ก” นักชกยอดกตัญญู ผู้ยอมสละอนาคตทางการศึกษา มาก้าวเข้าสู่วงการหมัดมวย เพื่อหาเงินช่วยเหลือครอบครัวและส่งน้องเรียน



“น้องใบเตย” วลีพร เอมโคกสรุด ในวัย 16 อาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่และน้อง รวมทั้งย่าและลูกของย่า รวมทั้งหมด 7 ชีวิต ในบ้านไม้ที่ค่อนข้างทรุดโทรม บนที่ดินลำรางสาธารณะของกรมชลประทานใน จ.พิษณุโลก ที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า


เดิมที สมาชิกในบ้าน มี 3 คนที่ทำงานหาเงินเป็นหลัก คือ พ่อทำงานไรเดอร์ พี่ชายทำงานรับจ้างในร้านคาร์แคร์ ขณะที่แม่ทำงานรับจ้างทั่วไป ทั้งงานก่อสร้าง ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ฯลฯ ส่วนย่าก็แก่แล้ว ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้แล้ว ขณะที่ลูกของย่า ก็ป่วยเป็นโรคไต ทำอะไรไมได้เหมือนกัน


ใบเตย เห็นแม่ทำงานหนักมาตลอด จึงห่วงแม่มาก ไม่อยากให้แม่เหนื่อย

“เคยเห็นแม่มีบาดแผลเต็มตัว ทำงานบางครั้งก็ตกที่นั่งร้าน หลังแม่ปวดหมดเลย เขียวหมดเลย ปีนต้นไม้ บันไดมันหัก หน้าแม่เป็นรอยเลย เห็นแล้วสงสารแม่ อยากเหนื่อยแทนแม่”


ตั้งแต่เรียนระดับประถม ใบเตยสนใจเรื่องหมัดมวย จึงเริ่มสมัครเรียนกับชมรมมวยไทยเพื่อฝึกทักษะด้านนี้


“เริ่มตั้งแต่ ป.4 (ถาม-ตอนนั้น 10 ขวบ ที่สนใจต่อยมวย เพราะเราอยากได้เงินหรืออยากชกมวย?) อยากชก มันเป็นทักษะป้องกันตัวด้วย (ถาม-ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเล่นกีฬาประเภทอื่น กีฬาที่ไม่โลดโผนขนาดนี้?) เคยเล่นแล้ว แต่ไม่ใช่ที่ชอบ (ถาม-การชกมวย ต้องปะทะ ต้องเจ็บปวด หนูไม่เจ็บหรือ?) ถามว่าเจ็บไหม ก็มีเจ็บบ้าง แต่ก็ต้องทน (ถาม-ประสบการณ์ที่ขึ้นเวทีชกครั้งแรก เป็นยังไงบ้าง?) ตัวสั่น ตื่นเต้น ตื่นเวที (ถาม-ผลงานครั้งนั้น ชนะหรือแพ้?) ชนะน็อคยกสอง”


ใบเตยรู้ดีว่า สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้การทำงานหยุดชะงัก ความเป็นอยู่ของครอบครัวยิ่งลำบากมากขึ้น ด้วยความสงสารแม่ที่ต้องทำงานหนัก และอยากให้น้องได้เรียน ใบเตยจึงยอมสละอนาคตทางการศึกษาของตัวเอง ด้วยการออกมาช่วยแม่รับจ้างทำงาน พร้อมกับเลือกเดินในเส้นทางนักมวยควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีรายได้มาช่วยจุนเจือครอบครัวอีกทาง


“หนูออกมาช่วยแม่ ช่วยส่งน้องเรียนให้น้องจบ ป.6 และจะส่งน้องให้เรียนจนกว่าจะจบ (ถาม-ตอนนั้นเรามีความฝันของตัวเองไหมว่า อยากจะจบสูงสุดชั้นไหน หรืออยากทำอะไร?) อยากเป็นครู แต่ชีวิตมันไปไม่ได้ ก็ต้องออกมาช่วยแม่ทำงานก่อน และส่งน้องเรียนแทน (ถาม-ไม่เสียดายหรือ เราก็มีความฝันของเรา ทำไมเราไม่ต่อเติมความฝันของเราให้สำเร็จ แล้วค่อยมาดูแลคนอื่น?) ถามว่าเสียดายไหม ก็เสียดาย แต่น้องสำคัญกว่า คือคนในครอบครัวสำคัญกว่าชีวิตหนูอีก ก็ตัดสินใจส่งน้องเรียน (ถาม-ชีวิตตอนนั้นมันลำบากขนาดไหน ทำไมเราต้องตัดสินใจมาทำงาน?) ถามว่าลำบากไหม มันก็ลำบาก บางวันมันอดมื้อกินมื้อ บางวันตังค์ก็ไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ก็ทนเอา”


ขณะที่ “ฐิติพร สุขมี” คุณแม่ของใบเตย เล่าถึงความลำบากในการหาเงินช่วงนั้นว่า“มันก็แย่ ก็คืออดมื้อกินมื้อ มีก็กิน ไม่มีก็อดเลย ปัญหาคือเรื่องเงิน เพราะช่วงที่เรียนเทคนิค เราค่าใช้จ่ายมันเยอะ แล้วมันมีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เราหาเงินไม่ทัน แล้วช่วงสภาวะโควิดด้วย มันยากนิดหนึ่ง ก็ถามลูกว่า อยากเรียนไหม เขาก็อ้ำๆ อึ้งๆ หนูอยากเรียนแม่ แต่หนูอยากทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ช่วยน้องด้วย ช่วยแม่ด้วย แบ่งเบาภาระแม่ เลยบอกว่า งั้นเรียน กศน.ไปก่อนนะ ถ้าหนูอยากทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย แต่เราไม่ทิ้งการเรียน”


ปัจจุบัน ใบเตยทำงานหาเงินช่วยครอบครัว 2 ทาง ทางหนึ่งคือตามแม่ไปช่วยทำงานรับจ้างทั่วไป ทั้งงานตามร้านอาหาร และงานก่อสร้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้าง แม้น้องอาจจะเด็กเกินเกณฑ์ แต่เจ้าของไซต์งานก็เห็นใจ เพราะลูกอยากช่วยแม่หาเงิน


“คอยข่วยส่งของให้แม่ อันไหนที่ช่วยได้ก็จะช่วย (ถาม-ก่ออิฐถือปูนเป็นไหม?) พอได้ (ถาม-งานเชื่อม งานทาสี?) เชื่อมยังไมได้ ทาสีได้ (ถาม-ทำงานอย่างนี้ไม่หนักไปหรือ?) ไม่ (ถาม-แม่ห้ามไหมไม่ต้องมาช่วยแม่ งานมันหนัก?) มี แต่จิตใจหนูอยากช่วยแม่มากกว่า ช่วยแม่หารายได้และส่งน้องเรียน (ถาม-แล้วหัวหน้างานเขาเห็นเราตัวเล็กๆ อย่างนี้ เขาไม่ห้ามหรือ?) มีห้ามบ้าง หนูก็ฝืนทำ บอกว่าหนูทำได้ (ถาม-ที่เราทำงานหนักๆ แบบนี้ เราได้อะไรกลับมากับตัวเองและครอบครัวบ้าง?) ได้ความแข็งแรงกับตัวเอง และฝึกทักษะความรู้กับตัวเองไปด้วย ช่วยแม่หารายได้เพิ่มเติม (ถาม-แล้วรายได้เขาให้ยังไงเวลาหนูไปกับแม่?) แต่ละวันแม่ได้ประมาณ 400 หนูได้ประมาณวันละ 200-300”


ส่วนการทำงานในแง่นักมวย หลังเข้าสู่วงการมวยไทยมาแล้ว 4 ปี ใบเตยผ่านการชกมาแล้ว 20 ครั้ง ชนะ 13 แพ้ 7 ขณะที่ค่าตัวในการชก ก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ


“ต่อยแรกๆ ค่าตัวหลักๆ ประมาณ 300 และอัปขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น 500 700 ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 1,000 เงินที่ได้มา ให้แม่เป็นคนจัดการทั้งหมด (ถาม-สูงสุดที่ได้มาปัจจุบันคือ?) 5,000 (ถาม-ต่อยที่ไหนจำได้ไหม?) ลุมพินี (ถาม-ครั้งที่แพ้ใช่ไหม?) ค่ะ (ถาม-ถ้าวันนั้นเราชนะ ค่าตัวจะขึ้นเป็นเท่าไหร่?) หลักๆ ก็ประมาณเกือบหมื่นได้ และจะได้เซ็นอยู่ในสังกัดค่ายของลุมพินีเลย ถ้าวันนั้นชนะ”


แม้เส้นทางแห่งชัยชนะในแต่ละไฟต์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มา ทั้งยังต้องแลกกับการปะทะ ความเจ็บปวด ความระบมหลังการชก แต่ใบเตยไม่เคยท้อหรือถอดใจ จะยังคงเดินหน้าหาเงินให้ครอบครัว และไปให้ถึงฝันที่ตั้งใจไว้ให้ได้


“อยากไปถึงขั้นประเทศนอก อยากได้ไปต่อยประเทศนอกบ้าง (ถาม-ถ้าต่อยระดับนานาชาติ กติกาเปลี่ยน ใช้นวมที่บางกว่า ออกอาวุธได้หลากหลายกว่า กอดรัดฟัดเหวี่ยงรุนแรง หนูคิดว่าหนูจะไหวไหม?) หนูว่าไหว บางครั้งหนูก็ชอบมวยปล้ำเหมือนกัน คล้ายๆ มวยปล้ำ แต่อาจจะเบากว่านั้น (ถาม-ถ้าเป็นศิลปะการต่อสู้ หนูพร้อมก้าวไปสู่จุดนั้นเลยใช่ไหม?) พร้อมค่ะ”


หากท่านใดอยากให้กำลังใจหรือช่วยเหลือ“ใบเตย”สามารถโอนไปได้ที่ ธนาคารออมสิน สาขาพิษณุโลก ชื่อบัญชี นางสาว วลีพร เอมโคกสรุด เลขบัญชี 020296665613


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “นักชกสาวเลือดกตัญญู”
https://www.youtube.com/watch?v=OVxXyzBzYFU




ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos




กำลังโหลดความคิดเห็น