รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ป้าทองสุขและลุงสุดใจ” สามีภรรยาที่ครองรักกันมากว่า 40 ปี แม้สามีจะตาบอด ภรรยาก็ไม่ทอดทิ้ง สู้ขายขนมปังปิ้ง-เก็บขวดขายหาเลี้ยงสามีและหลานสาววัยเรียนอีก 1 คน
หากใครเคยแวะเวียนไปแถวซอยจรัลสนิทวงศ์ 35 เขตบางกอกน้อย กทม. คงเคยเห็นภาพป้าคนหนึ่งยืนขายขนมปังปิ้ง หน้ารั้วสังกะสี โดยมีสามีตาบอดนั่งอยู่ข้างๆ ป้าทองสุข สุขสวัสดิ์ วัย 74 ใช้ชีวิตคู่อยู่กับลุงสุดใจ กรีชานนท์ วัย 80 มากว่า 40 ปีแล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะโคจรมาเจอกัน ต่างฝ่ายต่างมีอาชีพรับจ้างทั่วไปมาก่อน
“สมัยก่อนก็รับจ้างทั่วไป ใครจ้างทำอะไร ผมไปทุกครั้งไป รับจ้างทั่วไป ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ทำได้หมด (ถาม-เจอป้าได้ยังไง?) ที่ดงอ้อย ตัดอ้อยเรื่อยไป ได้กันมา 10 กว่าปี ไม่มีลูก เขาแนะนำว่า ต้องไปขอบน ไปก็ไป ได้ลูกชายมาคนหนึ่ง”
ส่วนปัญหาดวงตามองไม่เห็น ลุงสุดใจเล่าว่า ตาบอดมานานแล้ว โดยตาเริ่มมืดลงทีละน้อยๆ จนมองไม่เห็นเลย แม้ป้าทองสุขจะพยายามพาไปรักษา ก็ไม่สามารถทำให้กลับมามองเห็นได้ดังเดิม
“สายตาเขาไม่เห็น ทำอะไรก็ไม่ดีเท่าที่ควรหรอก (ถาม-หมอบอกไหมว่า ทำไมตามองไม่เห็น?) ก็ไปหา รพ.ไปทุกแห่งเลย (ถาม-เขาบอกเป็นอะไร?) ประสาทตาเสื่อม ศิริราชนี่สุดท้ายเลย นอกนั้นไปทุก รพ. ตอนแรกหมอบอกว่าจะผ่า หมอบอกว่า 50-50 นะ รักษาอยู่นะ ไม่ใช่ไม่รักษา เท่ากับตามองไม่เห็นเลย ลูกคลอดออกมาได้เดือนหนึ่ง ลูกชาย เขาก็เริ่มมองไม่เห็น ชีวิตฉันก็ลำบากมา”
หลังลุงสุดใจมองไม่เห็น ป้าทองสุขต้องเป็นเสาหลักทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ด้วยการรับจ้างทั่วไปทุกอย่าง ดายหญ้า ซักผ้า เก็บขวดขาย ขณะที่สามีก็พยายามช่วยหารายได้ด้วยการหาลอตเตอรี่มาขาย จนสามารถส่งลูกชายเรียนจนจบชั้น ม.3 มีงานทำ กระทั่งมีภรรยาและลูก แต่แล้ว ลูกชายมีอันมาด่วนเสียชีวิตไปเมื่อ 5 ปีก่อน ทิ้งลูกสาวให้อยู่กับปู่ย่าเพียงลำพัง เพราะภรรยาได้หย่าร้างกันไปแล้ว
หลานเรียนดี ฝันอยากเป็นหมอ!
“(ถาม-เรามาอยู่กับปู่ย่าได้ยังไง?) พ่อฝากย่ากับปู่มาเลี้ยงตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เพราะพ่อไปทำงาน หนูก็อยู่กับปู่กับย่า (ถาม-เรียนอยู่ที่ไหน?) เรียนอยู่ที่โรงเรียนมหรรณพาราม ได้เกรดเฉลี่ย 3.39 เรียนสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ถาม-ทำไมถึงเรียนสายนี้?) อยากเป็นหมอ” ปวริศา กรีชานนท์ หลานป้าทองสุขและลุงสุดใจ
ป้าทองสุขยอมรับว่า หลังสูญเสียลูกชายซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวไป ทำให้ความเป็นอยู่ของป้ากับลุงลำบากมากขึ้น
“ย่ำแย่มาเรื่อยๆ ไม่มีตังค์ให้ค่าบ้าน ก็ต้องหาเช่าที่อื่นอยู่ให้มันน้อยลง หาเงินไม่ได้ เป็นหนี้สินเขาเยอะแยะ (ถาม-ทุกวันนี้เราพักอาศัยอยู่ที่ไหน?) ชุมชนวัดมะลิ 2 (แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กทม.)”
ทุกวัน ป้าทองสุขจะปั่นจักรยานออกตระเวนเก็บขวดพลาสติกตามถังขยะชุมชนวัดมะลิตั้งแต่เช้ามืดไว้ขาย แม้เพื่อแลกกับเงินเพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือเป็นรายได้อีกทาง หลังจากนั้นจะออกไปซื้อขนมปังที่ห้างสรรพสินค้า เพื่อมาไว้ขายช่วงสายต่อไป
แม้ห้องเช่าราคาถูกที่ป้าทองสุขใช้ชีวิตอยู่กับสามีและหลาน จะค่อนข้างคับแคบ แต่ทั้งสามชีวิตก็สามารถซุกตัวนอนได้ รวมทั้งเป็นที่เก็บสิ่งของอีกหลายอย่าง
“(ถาม-ดูสภาพที่อยู่ของเรา ค่อนข้างคับแคบ?) ทำยังไงได้ (ถาม-ของเยอะ ส่วนใหญ่เป็นอะไร?) เก็บของเก่า เจอของเล่น เจอรองเท้าสภาพดีหน่อย เก็บไปขายตลาดนัด และเสื้อผ้าเด็กๆ ดีหน่อย ก็เอาไปขายตลาดนัด มันถึงได้ดูของเยอะ ที่นอนก็นอนแคบๆ อย่างนั้นแหละ นอนไม่สบายหรอก ทำยังไงล่ะ เราไม่ได้ตั้งหน้านอนอย่างเดียว เราต้องทำมาหากิน ห่วงลุงคนเดียว แกป่วยด้วย นอนไม่ค่อยสะดวกแค่นั้นเอง”
ลุงสุดใจไม่เพียงดวงตามองไม่เห็น แต่ยังต้องหาหมอประจำหลังป่วยด้วยภาวะเส้นเลือดในสมองแตก
“ผมป่วยนี่ เส้นเลือดในสมองแตก 3 เดือนไปหาหมอทีหนึ่ง กินข้าวได้อยู่ อาบน้ำได้อยู่ ส่วนใหญ่แฟนอาบให้ประจำ เดินไม่ค่อยได้ อาศัยนั่งรถอย่างเดียว”
แม้รายได้จากการขายขนมปังปิ้งแต่ละวันจะเอาแน่นอนไม่ได้ แต่บางครั้งก็โชคดีมีลูกค้าใจบุญให้ตังค์ป้าทองสุขมากกว่าค่าขนมปังที่มาช่วยอุดหนุน
“(ถาม-ขนมปังปิ้งป้าขายยังไง?) ชิ้นละ 5 บาท (ถาม-รายได้ดีไหม?) บอกไม่ถูกนะ บางวันก็ขายได้ 20 บาท บางวันก็ขายได้ 50 บางวันก็ไม่ได้เลย เข็นรถกลับ (ถาม-แล้วเอาที่ไหนกินใช้?) ทำยังไง ได้ไม่ได้ก็ต้องออก ถ้าเราไม่ออก เราก็ไม่รู้ว่าได้หรือไม่ได้ เราต้องขยันออก (ถาม-แล้ววันที่ไม่ได้ เอาเงินที่ไหนใช้?) ก็ต้องหาหยิบยืมกู้เขา ลูกค้าบางคนก็ดีนะ ซื้อ 20 ให้ตังค์ 100 บางคนก็เอากับข้าวมาให้ ตรงแยกนั้นเขาจะให้ประจำเลย ให้ก๋วยเตี๋ยว บางคนให้หนักๆ 500 ก็มี ซื้อขนมปัง ให้เลย แต่ไม่บ่อยนะ นานๆ พอได้แบงก์ 500 ก็ดีใจ น้ำตาร่วง”
หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมป้าทองสุขต้องพาสามีมานั่งขายของด้วย
“(ถาม-ทำไมไม่ให้แกพักอยู่ที่ห้อง?) ใครจะดูแลเขาล่ะ เขาจะน็อคบ่อย บางทีเขาจะหายใจไม่ออก (ถาม-เคยไหม นั่งๆ อยู่ แล้วแกหายใจไม่ออก?) เคย ก็เรียกเขา เขย่าตัวเขา เขาจะไปหลายรอบแล้ว อยู่บ้านไม่มีใครดู อยู่ใกล้ฉัน ยังหาของให้กิน ฉันจะกลับมายังไง ย้อนไปย้อนมา”
ไม่ใช่แค่ลุงใจที่ป่วย แต่สุขภาพป้าทองสุขก็เริ่มมีปัญหาเช่นกัน
“ก็เหนื่อย ไปไม่ค่อยไหว เหนื่อยแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ไปหาหมอที่คลินิก ไม่รู้เป็นอะไร บอกไม่ถูก เลยลองไปหาหมอดู หมอเจาะเลือดไปตรวจ 2-3 วัน เขาก็ให้ไปฟังผล เขาบอกเป็นโลหิตจางนะ บางครั้งก็เหนื่อย หัวใจเต้นมากเลย”
ส่วนอนาคตของหลานสาว ป้าทองสุขไม่มั่นใจว่า จะส่งให้หลานเรียนได้แค่ไหน แต่ดีใจที่หลานอยากเป็นหมอ
“อยากให้เขามีความรู้ อยากให้เขาจบ ม.6 จะรอดหรือเปล่ายังไม่รู้เลย คิดอยู่ (ถาม-หลานเรียนเก่ง เราตั้งเป้าหมายไหมอยากให้เขาเป็นอะไร?) แล้วแต่เขาชอบ ฉันไม่บังคับ ขอให้เขาตั้งใจเรียน มีหน้าที่การงานดี ไม่ต้องลำบากเหมือนย่า เขาบอกว่าอยากเป็นแพทย์ ย่าได้ยินแล้วปลื้มใจมากเลย เขามีตังค์ไม่ได้ เขาชอบซื้อหนังสือ ย่าบอก ไม่ต้องซื้อมากนะ เก็บตังค์ไว้ไปโรงเรียน เล่มละตั้งหลายร้อย แอบซื้อ ไม่รู้จะทำยังไง”
ป้าทองสุขยอมรับว่า เคยท้อ แต่เมื่อนึกถึงสามีและหลานแล้ว ก็ต้องสู้ต่อไป
“บางครั้งท้อมากเลย คิดว่า หากท้อไป อีกคนก็ยังเล็ก อีกคนก็ตาบอด ถ้าเรานั่นไป เขาจะหากินยังไงได้ล่ะ ต้องลุกสู้ต่อไป กำลังใจก็อยู่ที่ลุง หลาน ชีวิตตัวเองต้องสู้ เกิดมาเป็นคนต้องสู้สิ ถ้าไม่สู้ ใครจะมาให้เรากิน”
หากท่านใดสนใจอุดหนุนขนมปังปิ้งของป้าทองสุข แวะไปได้ที่ซอยจรัลสนิทวงศ์ 35 แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หรือหากต้องการช่วยเหลือป้าทองสุขและลุงสุดใจ สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาบางหลวง ชื่อบัญชี นางสาว ทองสุข สุขสวัสดิ์ เลขบัญชี 020063058141
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “คู่รัก...ทรหด”
https://www.youtube.com/watch?v=a-fTnV3oHck
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos