ป.ย.ป.ระดมสมอง แนวทางสร้างนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ ส่งเสริมหน่วยงานรัฐ นำไปใช้ขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2565 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) จัดงานเสวนา “จุดประกายโครงการภาครัฐด้วยนวัตกรรม” และงานมอบรางวัล “โครงการสร้างนวัตกรรมการปฏิรูปประเทศ” ณ ห้องประชุม The Mitr-ting Room ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้รับผิดชอบการจัดงาน รายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของงานว่า เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่หน่วยงานภาครัฐในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาการดำเนินงานในการขับเคลื่อนประเทศที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ โดยคัดเลือกโครงการต้นแบบจากโครงการภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือ Key Success Factor และสามารถเป็นต้นแบบโครงการภาครัฐด้วยการสร้างนวัตกรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นประธานในงาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยนวัตกรรม” ได้กล่าวถึงบทบาทของสำนักงาน ป.ย.ป. กับการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยนวัตกรรม ว่า บทบาทสำคัญของสำนักงาน ป.ย.ป. คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับกลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง เพื่อให้เกิดการขยายผลโดยการนำนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงการนำดิจิทัลมาปรับใช้กับการดำเนินงาน แต่เป็นการนำแนวความคิดใหม่ ๆ มาพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือในการดำเนินการให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมทั้งชื่นชมการดำเนินงานโครงการต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “โครงการสร้างนวัตกรรมการปฏิรูป”ที่มีการนำเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นแรงบันดาลใจแก่หน่วยงานราชการอื่นๆในการพัฒนาโครงการด้วยนวัตกรรมต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Global Chief Innovation officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรยายพิเศษหัวข้อ “การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในองค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศ” โดยสรุปสาระสำคัญของการบรรยายได้ว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลสู่การพัฒนาประเทศ ได้แก่ การมีวิธีคิดที่ดีของคนในองค์กร ความสนใจในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนในองค์กร การมีเครือข่ายที่แข็งแรงพร้อมที่จะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งคนในองค์กรต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา
ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นวัตกรรมกับการปฏิรูปประเทศ” โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า การวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมในประเทศไทย จากการจัดอันดับของ World’s 60 Most Innovative Economies 2021 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 36 โดยพบว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนอยู่ที่ 1.14 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP โดยตั้งเป้าการลงทุนมุ่งสู่ประมาณ 2 %ของ GDP ในอนาคต
ปัจจัยแห่งความสำเร็จต้องอาศัยการปรับตัวด้านดิจิทัลขององค์กรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์องค์กร โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาว
นายกานต์ ยังให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัล “โครงการสร้างนวัตกรรมการปฏิรูปประเทศ” ให้แก่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง จำนวน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ กิจกรรม ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเกษตรสมัยใหม่ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
2. โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) ระยะที่ 5 โดยมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
3. โครงการเพิ่มสมรรถนะ Smart Digital Health และPlatform เพื่อจัดการลดความเสี่ยง ด้านสุขภาพสำหรับประชาชน โดยกรมควบคุมโรค
สำหรับช่วงการเสวนาหัวข้อ “จุดประกายโครงการภาครัฐด้วยนวัตกรรม” มีผู้ร่วมเสวนาเป็นผู้แทนจากโครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย (๑) ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ กิจกรรม ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเกษตรสมัยใหม่
(๒) ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) ระยะที่ 5 และ (๓) ดร. ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ รองผู้อำนวยการ กองโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค ในโครงการเพิ่มสมรรถนะ Smart Digital Health และPlatform เพื่อจัดการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพสำหรับประชาชน
สรุปสาระสำคัญและปัจจัยสู่ความสำเร็จของการดำเนินโครงการ ได้ว่า โครงการสร้างนวัตกรรมการปฏิรูปประเทศ ควรเกิดจากความเข้าใจในระบบการทำงาน โดยไม่นำกระบวนการของการทำงานในระบบราชการมาเป็นอุปสรรค รวมทั้งอาศัยความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันจากทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร การประสานงานร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ โดยมองที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ยังสามารถลดขั้นตอนการดำเนินงาน และลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกด้วย