นักวิชาการ วอนรัฐ เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ ไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในประเทศ สร้างหลักประกันความปลอดภัยให้ปากท้องของคนไทยให้อยู่ดีกินดี ย้ำ หมูที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ล้วนมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนทั้งสิ้น
บทความโดย : แทนขวัญ มั่นธรรมะ
มากกว่า 6 เดือน ที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเข้มงวดการนำเข้าและเคลื่อนย้ายซากสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการลักลอบ นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย และเป็นวิธีการสำคัญในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในประเทศ สร้างหลักประกันความปลอดภัยให้ปากท้องของคนไทยให้อยู่ดีกินดี อย่างไรก็ตาม ยิ่งตรวจยิ่งเจอ ยิ่งปราบปรามปริมาณยิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งที่มีการเตือนจากสัตวแพทย์ของกรมฯ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ว่า หมูที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ล้วนมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนทั้งสิ้น เพราะต่างประเทศยังอนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงสุกรได้
“บาปอยู่กับคนทำ กรรมอยู่กับคนกิน” สำนวนนี้สะท้อนภาพหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายได้ชัดเจนที่สุด เพราะ “ผู้ลักลอบนำเข้า” มุ่งหวังผลประโยชน์กำไรเพียงอย่างเดียวจากส่วนต่างราคา แต่ผู้กระทำย่อมไม่เกรงกลัวต่อบาป ยังลักลอบให้เห็นกันต่อเนื่อง ส่วนกรรมที่ว่าตกกับคนกินนั้น ด้วยหมูนำเข้าไม่ได้ถูกตีตราที่มาให้เห็นชัดเจน แต่นำไปขายปนกับเนื้อหมูคุณภาพดีของไทยที่เกษตรกรฟูมฟักมาด้วยความยากลำบาก ส่วนพ่อค้า-แม่ค้าเขียงหมู รู้บ้างไม่รู้บ้างก็ต้องหลับตาข้างหนึ่งขายไป เพื่อถัวเฉลี่ยรายได้ที่ลดลงเพราะช่วงนี้หมูน้อยและราคาสูง ลูกค้าซื้อน้อยลงมากจากภาวะเงินเฟ้อ บาปกรรมจากสารเร่งเนื้อแดงในหมูนำเข้าจึงตกกับคนกินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความน่ากลัวของ “หมูลักลอบนำเข้า” ผู้บริโภคชาวไทยต้องมองไกลถึงการเป็นพาหะนำเข้าโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะโรค ASF ซึ่งหากจำกันได้ ไทยเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่ประกาศ ASF เป็นโรคระบาด ส่งผลกระทบวิกฤตขาดแคลนและราคาเนื้อหมูทยอยปรับราคาทันที จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องจับตาปราบปรามหมูผิดกฏหมายแบบ “เจอ จับ ดำเนินคดีขั้นสูงสุด” โดยใช้กฎหมายในมือ เพราะโรคระบาดกำจัดให้สิ้นซากต้องใช้เวลา ทั้งที่ไทยเป็นผู้ผลิตชั้นแนวหน้าในภูมิภาคนี้ และเกษตรกรไทยกำลังเดินหน้าฟื้นฟูการเลี้ยงรอบใหม่ตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ กฎหมายที่อำนาจในการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงปลอมปนประกอบด้วย พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 (ครอบคลุมโรคสัตว์หลายประเภท ทั้งสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม สัตว์ปีก สัตว์น้ำ พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ คุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมใน อาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ. 2545 ห้ามใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกรนิสต์ (สารเร่งเนื้อแดง) ทุกชนิดเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 ให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) ซึ่งจะส่งผลคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตทั้งคนและสัตว์ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยและประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลาเดียวกัน
ผ่านมากว่าครึ่งปี สถานการณ์การเลี้ยงสุกรในประเทศกำลังฟื้นตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 574 ล้านบาท ชดเชยให้กับเกษตรกรที่ทำลายหมูในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ควบคู่กับการเร่งดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะกลางเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพง ประกอบด้วย งดส่งออกสุกรมีชีวิต 3 เดือน ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค
ปัจจุบัน ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มราคายืนที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม มาเป็นสัปดาห์ที่ 11 แล้ว และน่าจะยืนระดับนี้ยาวไป เพราะผลผลิตยังมีน้อยแต่ความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังรัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวทำให้งานด้านบริการ ร้านอาหาร ภัตตาคาร กลับมาคึกคัก ซึ่งราคาขณะนี้จูงใจให้เกษตรกรนำหมูเข้าเลี้ยงต่อเนื่อง เพราะเป็นราคาที่พออยู่รอดได้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งเพียงปล่อยให้กลไกตลาดทำงานปรับราคาอย่างสมเหตุผลตามที่ลั่นวาจาไว้ และกำกับดูแลพวกนอกรีดที่ฉวยโอกาสอย่างเข้มงวด
ความหวังของเกษตรกรไทยที่นำหมูเข้าเลี้ยงใหม่วันนี้ คือ หมูลักลอบนำเข้าต้องถูกปราบปรามให้หมดไปเพราะนอกจากจะเป็นหายนะนำโรคระบาดเข้ามา หากป้องกันไม่ดีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดโรคซ้ำ และยังเป็นตัวการบ่อนทำลายสมดุลกลไกราคาเนื้อหมูในประเทศเพราะราคาถูกกว่า ถ้าเราทำธุรกิจและเห็นอนาคตว่าต้องขาดทุนแน่นอน เราคงตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้เสียหายมากเกินไป ที่สำคัญเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพดี ปลอดภัย ปราศจากสารเร่งเนื้อแดงเพื่อสร้างความไว้วางให้ผู้บริโภค