xs
xsm
sm
md
lg

"กรุงเทพฯ" ขึ้นแท่น มีผู้บริหารสมาคมระหว่างประเทศดึงงานประชุมนานาชาติสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"กรุงเทพมหานคร"ขึ้นอันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก ในฐานะเมืองที่มีบุคลากรในสมาคมระหว่างประเทศใช้บทบาทช่วยดึงงานประชุมนานาชาติเข้าสู่ประเทศสูงสุด

บริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศด้านการจัดประชุม GainingEdge เปิดเผยรายงานวิจัยประจำปี “Leveraging Intellectual Capital” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า กรุงเทพมหานครมีบุคลากรเข้าเป็นกรรมการบริหารสมาคมระหว่างประเทศ 194 สมาคม แต่สามารถดึงงานประชุมเข้าประเทศได้มากถึง 123 งาน คิดเป็นอัตราการใช้ประโยชน์ (Harnessing Ratio) 63.4%

ทำให้กรุงเทพเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียแปซิฟิก ตามด้วย เซี่ยงไฮ้ 51.7% สิงคโปร์ 50.8% ไทเป 45.9% และกัวลาลัมเปอร์ 44.3%

GainingEdge จัดอันดับเมืองจุดหมายปลายทางไมซ์ทั่วโลก ด้านการใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่เป็นต้นทุนทางปัญญาเพื่อดึงงานประชุมนานาชาติมาจัดในเมืองได้สูงสุด โดยพิจารณาจากจำนวนผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมวิชาชีพระหว่างประเทศ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนงานประชุมนานาชาติของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นระหว่างปี 2561 ถึงปี 2564 ในเมืองของผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และคำนวณค่าออกมาเป็นสัดส่วนร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เรียกว่า Harnessing Ratio

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังอยู่ในอันดับ 6 ของโลก รองจากกรุงปราก 95% ดับลิน 81.9% ลิสบอน 81.8% มอนทรีออล 77.2% และเบอร์ลิน 64.7%

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า จากรายงานของ GainingEdge ได้แนะนำให้เมืองต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์การประมูลสิทธิหรือดึงงานโดยเชิญชวนผู้นำองค์ความรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่มีชื่อเสียงให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดึงงาน ซึ่งสอดรับกับแนวทางการดึงงานของทีเส็บที่ริเริ่มโครงการ Thailand Convention Ambassador Programme หรือผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย


ปัจจุบันได้แต่งตั้งแล้วสองท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สมศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกิตติมศักดิ์ด้านการจัดประชุมนานาชาติในด้านการแพทย์ (Honorary Convention Ambassador – Medical) 

และรองศาสตราจารย์ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาการหุ่นยนต์ (Convention Ambassador – Robotics) ซึ่งถือเป็นสองท่านแรกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย หรือ Thailand Convention Ambassador อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลักดันผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพในอุตสาหกรรมการแพทย์ และวิทยาการหุ่นยนต์ของประเทศไทยให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมวิชาชีพระหว่างประเทศอีกด้วย


บทบาทของ Convention Ambassador คือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่โน้มน้าวให้เกิดการสนับสนุนและนำเสนอประเทศไทย สร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม และสนับสนุนเพื่อช่วยผลักดันให้สมาคมของประเทศไทยในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ร่วมประมูลสิทธิงานประชุมนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทย

นอกจากนี้ ทีเส็บ เตรียมขยายโครงการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ของประเทศ อาทิ อาหาร และการเกษตร ภายใต้โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy Model) และไทยแลนด์ 4.0








กำลังโหลดความคิดเห็น