นักวิชาการ ระบุความท้าทายใหม่ของโลกในอนาคตอันใกล้ คือ “วิกฤติอาหารขาดแคลนและราคาแพง” เตือนการแทรกแซงตลาดมากเกินไป ปัจจัยเร่งสินค้าขาดตลาด-ราคาแพง
3 ปัจจัยหลักที่บั่นทอนสุขภาพของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมขณะนี้ คือ โรคโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปีแล้ว หลังนโยบายปิดประเทศถูกประกาศใช้เพื่อป้องกันไวรัสร้าย การค้าขายและการขนส่งหยุดชะงัก คนตกงาน ครั้นโรคระบาดเริ่มคลี่คลายเมื่อต้นปี 2565 สงครามก็ปะทุขึ้นแบบไม่ตั้งตัวฉุดเศรษฐกิจให้ดิ่งลงไปอีก ราคาข้าวปลาอาหาร น้ำมัน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกำลังกลายเป็นปัจจัยที่ 4 สู่ความท้าทายหน้าใหม่ของโลกในอนาคตอันใกล้นี้ คือ “วิกฤติอาหารขาดแคลนและราคาแพง”
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ถึงความไม่มั่นคงทางอาหารของโลก ชี้ว่าในเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอของประชากรโลก โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลักในทวีปแอฟริกา และประเทศยากจน
ศาสาตราจารย์เกียรติคุณ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลกความเสี่ยงในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารมีน้อย ขณะที่สถานการณ์โลกในปัจจุบันทั้งภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันแพงซึ่งเป็นผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบด้านความมั่นคงอาหารยังไม่มีปัญหามากนัก เพราะผลผลิตทางการเกษตรไม่ถูกกระทบมาก ยกเว้นกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย และหากสงครามไม่ลากยาว การผลิตอาหารจะสร้างได้ภายใน 6 เดือน ในทางกลับกันหากสงครามไม่จบง่ายภาวะราคาอาหารแพงก็จะดำเนินต่อไป
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ปกติภาวะราคาอาหารจะคลี่คลายภายในครึ่งปี แต่ปีนี้ไม่แน่ใจ ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ นโยบายควบคุมราคาสินค้าและคุมภาวะเงินเฟ้อที่จะส่งผลลุกลามไปทุกสาขาการผลิต
รศ.ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า รัฐบาลควรเลิกคุมราคาอาหาร เพราะเป็นการทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารในการขยายการผลิต จำเป็นต้องท่องสูตร "ราคาแพง ดีกว่าขาดตลาด" เพราะราคาสินค้าแพง เกษตรกรจะมีแรงจูงใจเพิ่มการผลิตอย่างรวดเร็วและราคาสินค้าก็จะลดลงเองตามธรรมชาติเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลยิ่งควบคุมราคาการผลิต เกษตรกรก็จะไม่มีแรงจูงใจเพราะทำแล้วไม่ได้กำไรและหยุดการผลิตในที่สุด ซึ่งสินค้าอุปโภคก็ไม่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ บทบาทที่สำคัญของภาครัฐอีกหนึ่งเรื่อง คือ ต้องให้ข้อมูลข่าวสารผู้บริโภคอย่างถูกต้อง ว่าไทยมีอาหารเหลือเฟือ เราส่งออกได้เพราะมีของเหลือ อย่าทำให้ประชาชนตกใจแล้วแห่ไปกวาดซื้ออาหารจนหมดชั้น หรือไปซื้อกักตุน รัฐบาลต้องให้ข้อมูลชัดเจนว่ามีของเท่าไรและอยู่ตรงไหน
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า การค้าเสรี เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราเป็นประเทศที่มีผลผลิตส่วนเกิน เราไม่เดือดร้อน แต่ว่าเราก็ไม่ควรจะเห็นแก่ตัว และประเทศผู้ส่งออกในฐานะพลเมืองที่ดีของโลก ไม่ควรเอาตัวรอดคนเดียว อย่าจำกัดการส่งออก-นำเข้า อย่าแทรกแซงตลาด เพราะการค้าเสรีเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ได้อ่านกูรูด้านเศรษฐศาตร์กล่าวแบบนี้แล้ว ผู้บริโภคอย่างเรา ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องต้นทุนการผลิต กลไกตลาดและราคาสินค้า อย่าใช้แต่ความคุ้นชินหรือราคาที่เคยซื้อเป็นประจำมาเป็นตัวชี้วัดว่าของแพงหรือไม่แพง หรือมีแม้กระทั่งราคาแพงเพราะสินค้าไปส่งออกโดยไม่คำนึงถึงผู้บริโภคในประเทศ
ที่สำคัญราคาสินค้าที่ปรับขึ้นครั้งนี้เกิดจากปัจจัยการผลิตที่ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้แม้แต่เรื่องเดียว ทั้ง โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนราคาน้ำมัน (ไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน) แต่สิ่งที่เราควบคุมการผลิตได้ดีมาก คือ การผลิตสินค้าเกษตร ที่เราสั่งสมประสบการณ์มาหลายร้อยปี และพัฒนามาโดยตลอด ปรับเปลี่ยนการผลิตให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยิ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent : AI) และ Internet of Things : IoT มาประยุกต์ใช้ควบคุมการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม การเพาะปลูก ยิ่งทำให้เราสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารมีความปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนการตามที่ต้องการ ที่สำคัญช่วยรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืนของโลกใบนี้
โดย : สมสมัย หาญเมืองบน