รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ป้าตุ่ม” ที่ต้องดูแลหลานๆ ถึง 6 คนเพียงลำพัง ซึ่งเป็นเด็กพิการถึง 3 คน แม้บางคนไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข แต่ป้าก็รักทุกคนเหมือนกัน
“ป้าตุ่ม” หรืออรศรี ทองรอด กับวัย 62 ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูหลานๆ และผู้ที่ไม่ใช่หลานรวม 6 ชีวิตแต่เพียงลำพังมานานกว่า 15 ปีแล้ว ซึ่งเด็ก 3 ใน 6 คนดังกล่าว อยู่ในภาวะพิการ ทั้งหมดพักอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ภายในคอนโดการเคหะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในซอยเฉลิมพระเกียรติ 14 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม.
ป้าตุ่มเล่าถึงที่มาและสภาพของหลานแต่ละคนให้ฟังว่า“คนแรก น้องบิว น.ส.จนิตสา ประสมทรัพย์ อายุ 23 ปี เป็นลูกของลูกสาวที่เสียชีวิตแล้ว น้องบิวป่วยเป็นโรคลมชัก ตอนอายุแค่ 5 เดือน หมอตรวจแล้วว่า เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ร่างกายเลยผิดปกติ”
“คนที่สอง น้องแมน นายรุ่งโรจน์ ทองรอด อายุ 20 เป็นลูกของลูกชายคนโต ป่วยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองเขาไม่มี มีน้ำครึ่งหนึ่ง สมองครึ่งหนึ่ง ติดเชื้อ CMV ที่สมอง เด็กสองคนนี้อยู่กับยายตั้งแต่เกิดเลย”
“คนที่สามชื่อ น้องลิซ่า เป็นลูกของเพื่อนลูกสาว ตอนที่ลูกสาวมาอยู่ เอาเพื่อนมาอยู่ด้วยคนหนึ่ง เราก็ไม่รู้ว่าเขามาอยู่ เขาก็หอบลูกมาเลย อุ้มมาตอนได้เดือนครึ่ง”
“คนที่สี่ น้องแนน ด.ญ.สุภาวดี ทองรอด อายุ 12 ปี เป็นน้องของน้องแมน (ลูกของลูกชายคนโต) ปัจจุบันเรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.6 เป็นเด็กปกติ เลี้ยงมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน พ่อกับแม่เขาแยกทางกันตอนได้ 3 เดือน เลยเลี้ยงมาตลอด”
“คนที่ห้า น้องบูม อายุ 7 ขวบ เรียนอยู่ ป.1 เป็นหลานของเพื่อนลูกสาว (ถาม-มาอยู่กับเราได้ยังไง?) แม่น้องบูม ยายเขาเอามาให้ คลอดได้ 3 วันเอง ยายไปรับจาก รพ.กลับมา ไม่มีเงินเสียค่าคลอด ลูกสาวคนที่ตาย เขาก็ให้เงินไปรับ กลับมาเสร็จ เขาบอก เดี๋ยวมึงค่อยไปทำงานกับกูก็แล้วกัน เลี้ยงลูกไปก่อน เดี๋ยวพาไปทำงาน ยังไม่ทันจะเลี้ยงลูกเลย เอาลูกมาให้เราเลี้ยงปั๊บ หายจ้อยเลย ได้ 3 วันเอง ไปเลย”
“คนที่หก น้องอนิชา คนเล็ก แม่เขากินยาไทรอยด์ระหว่างท้องตลอด เขาไม่ยอมบอกหมอว่าเขาเป็นไทรอยด์ ระหว่างท้อง เขาก็อยู่กับป้า เขาก็ไปคลอด เขาลื่นในห้องน้ำ ...อยู่ รพ.ได้ 15 วัน เขาอุ้มเด็กกลับมา เขาก็มาส่งให้ป้า ป้าก็ดูแล้ว ไม่ใช่แล้วเนี่ย พิการอีกแล้ว”
ป้าตุ่มบอกว่า หลังลูกสาวคนโตเสียชีวิต ปัจจุบันจึงเหลือลูกชายคนเดียวที่ช่วยออกค่าเช่าห้องบ้าง แต่บางเดือนลูกก็มีไม่พอ เพราะลูกมีครอบครัวใหม่ ขณะที่ป้าตุ่มยึดอาชีพรับจ้างทั่วไป หารายได้เลี้ยงหลานๆ ทั้ง 6 คน
“รับจ้างทั่วไป บางทีเขาให้ช่วยล้างชามร้านขายโจ๊กก็ไป บางทีตอนเย็น เพื่อนกันเขาให้ไปช่วยย่างซี่โครงไก่บ้าง ย่างบาร์บีคิว คอไก่ เขาย่างขาย ขายส้มตำ มีทุกอย่าง ก็ช่วยเขาใส่ถุง ช่วยได้ไม่นาน ต้องรีบขึ้นมาดูหลาน ให้นมเป็นเวลา เราข่วยเขาแป๊บๆ เขาก็ให้ 100 บ้าง 150 บ้าง เขาก็ช่วยเหลือค่านมบ้าง บางทีเขาก็ซื้อกับข้าวให้ 2 ถุง”
ขณะที่ กมลพร เรืองมาลัย เจ้าของร้านโจ๊ก บอกว่า“สงสาร เวลายุ่งๆ เสาร์อาทิตย์ก็จะเรียกเขามา หรือเวลาคนขาด ก็จะเรียกเขามาช่วยเก็บถ้วยเก็บชาม“
ด้าน ศรินรัตน์ ยินดีจันท์ เจ้าของร้านส้มตำ เล่าว่า “พี่ตุ่มมาช่วย ให้ยืนย่าง และช่วยใส่ถุง ตักน้ำจิ้ม มาช่วยแค่ช่วงเย็น ประมาณ 1-2 ชม. ที่ให้มาช่วย ประเด็นแรกคือ ได้เห็นหลานที่แกเลี้ยงอยู่ ได้ขึ้นไปเจอ เลยสงสารแก ให้มาช่วยทุกวัน นอกจากวันไหนที่หลานแกไม่ค่อยดี ไปหาหมอ แกจะบอกล่วงหน้า”
การต้องเลี้ยงเด็กหลายชีวิต ทั้งเด็กปกติและเด็กพิการ ทำให้รายได้ที่ป้าตุ่มหาได้จากการรับจ้างทั่วไปไม่พอใช้จ่าย เคยต้องกู้หนี้และต้องหนีการตามฆ่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
“เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ป้าลำบากสุดๆ เลย เป็นหนี้เป็นแสน เพื่อเลี้ยงเขา กู้แล้วกู้อีก เอาง่ายๆ กู้หมวกกันน็อค ไม่มีเงินให้ ป้าขายน้ำแข็งไส ไม่ได้กำไร หมวกกันน็อคมาทวง เราก็ไม่มีตังค์ ตีถึงในห้องเลย เข้าไปตีป้าเลย คิดดูสิ ตบหน้า ตกใจเลย จนไม่รู้ทำยังไงแล้ว โทรไปที่รัฐบาล 1111 ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย ฮึดเลย เพราะอุ้มหลานพิการไปอยู่หลังวัดทุกวันเลย ทำมาหากินไม่ได้ หมวกกันน็อคมันจะฆ่าเอา รัฐบาลบอกว่า ป้าจะกู้เงินที่ออมสินหรือกรุงไทยก็ได้ ป้าไปเลย เดี๋ยวส่งเรื่องไป ก็กู้เขามาแค่พอใช้หนี้ก็จบ แล้วเหลือไว้ใช้นิดหนึ่ง ป้าโล่งไปเลย ส่งออมสินเดือนละ 1,300 ก็ยังดีกว่าเรากู้หมวกกันน็อค ต้องมานั่งหนีมัน”
แม้ชีวิตไม่ง่าย แต่ป้าตุ่มไม่ยอมแพ้ พยายามฝึกอาชีพและหางานทำทุกทาง
“ทางสมาคมนวัตกรรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาเขาสอนวิชาชีพให้เรา เย็บจักร และสอนทำขนมคุ้กกี้ แล้วแต่เราจะเลือกเรียนแบบไหน ถ้าเราแก่แล้ว 70-80 เราไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ เราก็อยู่บ้าน ถ้าเย็บจักร เราก็สามารถรับจ้างใส่ซิปใส่อะไร เขาให้จักรมาตัวหนึ่ง นายกสมาคมฯ ซื้อจักรให้ทุกคน”
“เราจะฝึกอาชีพเย็บจักรอุตสาหกรรม สมมุติถ้าจบจากที่นี่แล้ว เกิดเขาไปทำงานที่โรงงานเย็บผ้าได้ สามารถไปต่อยอดได้ หรือไม่ถ้าบริษัทส่งงานเข้ามา เขาสามารถรับงานกลับไปทำบ้านได้บางส่วน ในส่วนนี้สมาคมฯ จะให้เขาเดือนละ 9,000 เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อใช้จ่ายในเรื่องการเดินทาง และเรามีอาหารให้ทานทุกมื้อที่มาทำงานอบรมกับเรา” พัชรา มั่งศิลป์ นายกสมาคมนวัตกรรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา
ป้าตุ่มในวัย 60 กว่า แม้จะไม่มีโรคประจำตัวอย่างความดันและเบาหวาน แต่การต้องดูแลหลานพิการ ที่ต้องมีการอุ้มบ้าง ล้มบ้าง ก็ทำให้ป้าตุ่มเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมตามมา
“อุ้มหลานคนกลางเดินเข้าอาบน้ำ วันนั้นยายไม่เห็นน้ำอยู่หน้าห้องหน่อยหนึ่ง เลยลื่นล้ม จังหวะเรากลัวหลานเราเจ็บ เราเลยใช้เข่าลงไปเลย รับหลานไว้ พอหายปั๊บ เราเลยกลายเป็นโรคเข่าเสื่อม ทั้งที่ไม่น่าเป็นนะ ใครก็ยังบอกว่าเราแข็งแรง เป็นหญิงเหล็กเลย แกร่งมาก เลี้ยงเด็กได้ขนาดนี้ คุณเป็นคนที่แกร่งมากๆ เลยกลายเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเดือนหน้ายายต้องไป รพ. ก็ต้องทิ้งให้เขาอยู่บ้าน ยายไปตี 5 รักษาที่ รพ.วชิระ ยายมีบัตรทองอยู่โน่น ไกลมากเลย เช่าเสื่อม เวลาจะลุกจะนั่ง เวลานั่งแล้วลุกไม่ได้ ต้องหมุนตัว และมื้อเท้าก่อน ถึงจะลุกได้ ถ้าจะให้ลุกปุบปับเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ เดินลงบันได ต้องตะแคงข้างลง ถ้าจะลงตรงๆ เรารู้สึกว่ามันปวด”
“ขนาดตอนแรกหมอจะให้ไปผ่านะ ยายบอก ถ้าผ่า นอน รพ.เดือนหนึ่ง ไม่ได้ ยายตัดสินใจขอหมอฉีดยาก่อน หมอฉีดให้ 2 เข็มแล้ว ถามว่าเป็นยังไงบ้างคุณยาย ถ้านั่งนานๆ เหยียดขา จะดัง แล้วยายจะเจ็บ ความรู้สึกของยายคือ เจ็บยังไง ยายก็ไว้ข้างใน ไม่แสดงให้เด็กๆ รู้ว่าเราเจ็บ เราปวด จะไม่ให้เขาคิดว่า ยายเป็น กูจะอยู่กันยังไง ไม่ให้เขาเห็นเลยว่าเราเจ็บ ให้เขารู้ว่า ยายยังเลี้ยงพวกหนูไหวนะ”
ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ป้าตุ่มมีความสุขที่ได้ดูแลหลานๆ ทั้ง 6 คน แม้บางคนจะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข แต่ป้าตุ่มก็รักทุกคนเหมือนกัน ความรักความผูกพันที่ผ่านมา ทำให้ป้าตุ่มรู้สึกว่า หลานทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตนเองไปแล้ว ไม่อยากขาดคนหนึ่งคนใดไปทั้งนั้น
“เราเลี้ยงมาทุกคน นี่คือชีวิตหนึ่งของยายเลย เป็นชีวิตของยายส่วนหนึ่งเลย ยายจะขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ เราเลี้ยงเขาเราไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนจากพวกเขาว่า ต้องให้เขามีปาฏิหาริย์มาช่วยเรา ไม่ใช่ เราเลี้ยงเขา เราให้ใจเขาดีกว่า”
“(ถาม-เราได้อะไรมาจากการที่เราดูแลเขา?) ได้ความสุขที่เราได้ดูแลเขา มีความสุขได้เห็นเขาดีใจ เขาเห็นหน้าเรา เขากอดเรา พอเราอาบน้ำให้เขาเสร็จ ป้อนนม ถามว่ารักย่าไหม รักย่า เขากอดเรา เราก็ชื่นใจแล้ว”
หากท่านใดต้องการช่วยเหลือสามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาอุดมสุข ชื่อบัญชี ด.ญ.จนิตสา ประสมทรัพย์ โดย นางอรศรี ทองรอด เลขบัญชี 2590051727
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “อรศรีหัวใจเพชร”
https://www.youtube.com/watch?v=gHnKSs4ItkE
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos