สภาพัฒน์ ระบุสถานการณ์แรงงานไทย เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ดูจากไตรมาส 4 ปี 2564 อัตราว่างงาน อยู่ที่ 1.64% ต่ำสุดในรอบปีครึ่ง ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทย ยังน่าห่วง ล่าสุด ทะลุ 14 ล้านล้านบาท
นางสาว จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจสังคมไทย ไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่า สถานการณ์แรงงาน เริ่มฟื้นตัว โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.64% ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.3 แสนคน เป็นการลดลงของจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 21.7% ส่วนแรงงานใหม่ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.1% โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานจบใหม่ทั้งหมด
สภาพัฒน์ มองแนวโน้มตลาดแรงงานปี 2565 จะดีขึ้น เพราะโควิด"โอมิครอน" ไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เดินหน้าต่อได้ โดยต้องติดตามปัจจัยต่างๆที่จะส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน คือ มาตรการที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการควบคุมการระบาด ที่ภาครัฐ ต้องเน้นมาตรการที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี ,การขยายตัวของแรงงานนอกระบบที่ ต้องออกมาตรการจูงใจให้คนกลุ่มนี้ สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบมากขึ้น
ส่วนภาวะสังคมไทย ในประเด็นหนี้สินครัวเรือน ซึ่งตัวเลขล่าสุด เป็นของไตรมาส 3 ปี 2564 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2 % ชะลอลงจาก 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ที่ 89.3 % โดยพบว่า คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเฝ้าระวังหนี้เสีย จากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ที่ยังอยู่ระดับสูง อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นภาครัฐ ต้องเร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารรัฐ,การส่งเสริมให้ครัวเรือน เข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้วย เพื่อไม่ให้มีภาระหนี้มากเกินไป และส่งเสริมให้ครัวเรือน ได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน
ในด้านของการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ลดลง 67.9% เป็นการลดลงในทุกโรค และในภาพรวมปี 2564 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 54.5% จากปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง และรักษาสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีผู้ที่คิดว่าตนเองกำลังเป็นซึมเศร้ากว่า 46% ที่ละเลยและไม่ทราบแนวทางการจัดการความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงและนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายต่อไป
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ โควิด-19 ของประชากรวัยเด็ก ซึ่งยังมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบางที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ควบคู่กับการป้องกันโรคส่วนบุคคล