กรมการค้าภายใน เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก เปิดหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง” จ.เชียงใหม่ สร้างคอลเลคชั่นสินค้าใหม่ให้โดดเด่น โดนใจผู้ซื้อ
(24 ธ.ค.64) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2564 “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง” ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศโดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างโอกาสและเพิ่ม ขีดความสามารถให้กับชุมชน ผ่านโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย
กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เล็งเห็นศักยภาพและความเข้มแข็งของ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง” ที่มีหลักการทำงานภายใต้แนวคิดการกระจายรายได้ ร่มบ่อสร้าง 1 คัน สร้างรายได้ทางตรงจากการทำร่ม ให้กับชาวบ้านถึง 2 อำเภอ คือ อำเภอสันกำแพง และ อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบและแหล่งช่างฝีมือในการทำร่ม ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 200 ปี จากอดีตจนปัจจุบัน ได้แก่ กระดาษสา ทำที่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง ด้ามร่ม ทำที่บ้านเหล่า, บ้านออน อำเภอสันกำแพง และบ้านแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ด ซี่ร่มและโครงร่ม ทำที่บ้านสันต้นแหน อำเภอดอยสะเก็ด และนำมาประกอบกันปิดกระดาษร่ม (หุ้มร่ม) ลงสี ที่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง
ดังนั้น กรมการค้าภายใน จึงเข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ โดยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาคอลเลคชั่นสินค้าใหม่ให้โดดเด่นจากงานร่มและพัดบ่อสร้างในแบบดั้งเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ มาตรฐาน เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของร่มบ่อสร้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ถือเป็นเครื่องหมายการันตีภูมิปัญญาของชาวอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้นำลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าท้องถิ่น
โดยเชิญ คุณบุษกร ชยาทิตย์ ดีไซน์เนอร์ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ “มองดอกไม้บายบุษกร” มาออกแบบคอลเลคชั่นใหม่ ประเภทร่มและพัดเป็นซีรี่ย์ชุด “งามดอกไม้เมือง” คือ การเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันลงบน “ร่มบ่อสร้าง” หนึ่งในงานหัตถศิลป์ ที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของชาวล้านนา...สู่มุมมองใหม่ที่ร่วมสมัย ด้วยการนำดอกไม้ 3 ชนิด ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาของคนล้านนา มาแต่งแต้มบนผลิตภัณฑ์ ผ่านเทคนิคการปัก ถัก และการเพ้นท์ ได้แก่
ดอกซอมพอ หรือ ดอกหางนกยูงไทย ที่มีรูปโฉมคล้ายผีเสื้อหลายๆ ตัวเกาะไล่เรียงเป็นช่อมีความหมายเกี่ยวกับวิถีของการทำบุญและการปฏิบัติตนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
ดอกเก็ตถะหวา หรือ ดอกพุดซ้อน ที่ชาวล้านนาถือว่าเป็นหนึ่งในพญาดอกไม้ และ ดอกตะล่อม หรือ ดอกบานไม่รู้โรย ที่ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นดอกไม้มงคล ที่หมายถึงการประคับประคองให้ชีวิตราบรื่น ร่มเย็น มีความสุข รวมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ กล่องใส่ร่มและถุงใส่พัดที่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นผ้าคลุมผมในคอนเซ็ปต์เดียวกับผลิตภัณฑ์ พร้อมติดอาวุธความคิด ทางธุรกิจด้วยการอบรมการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ การเจรจาการค้า การศึกษาดูงาน เชื่อมโยงช่องทางการตลาดกับตัวแทนจำหน่ายและหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงแรม ที่มีการสั่งซื้อสินค้าของวิสาหกิจศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง ไปตกแต่งสถานที่อีกด้วย
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน เพื่อให้การประกอบธุรกิจมีประสิทธิภาพ สามารถดำรงธุรกิจของชุมชนได้อย่างมั่นคง ชุมชนเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง อยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง และลดการย้ายถิ่นฐานจากชุมชนเข้าสู่เมือง ปัจจุบัน มีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 25 แห่ง
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมการค้าภายใน ได้ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็น “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่” จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง จังหวัดเชียงใหม่ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ผ้าทำมือบ้านจงเจริญ จังหวัดเชียงราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาป่าหนาด จังหวัดเลย วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จังหวัดพิษณุโลก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านบ่อหลวง จังหวัดน่าน วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมล้านนาสันปูเลย จังหวัดพะเยา วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง จังหวัดเชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชนบ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร โดยทุกที่มีความพร้อมที่ก้าวไปสู่เป้าหมายของ “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่” ที่ประสบผลสำเร็จและเป็นแรงสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน