xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.สรุปความเห็นหัวลำโพงก่อนสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรถไฟ ขอเวลา 1 - 2 สัปดาห์ รวบรวมความเห็นประเด็นหัวลำโพง ยืนยันไม่ได้ปิดหัวลำโพง เป็นเพียงการลดบทบาทของสถานีรถไฟ ด้านฝ่ายคัดค้าน เสนอทำประชามติ ฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศ

การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ "อนาคตสถานีหัวลำโพงประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา" โดยมีผู้เข้าร่วม จากหลายภาคส่วน ทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม ,รฟท. ,นักวิชาการ ,ภาคประชาสังคม โดยทางฝั่งนโยบาย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมพร้อมการจัดการเดินรถ และความพร้อมด้านอื่น มาเป็นระยะเวลา 7 เดือน และยืนยัน ไม่เคยมีการพูดว่าจะปิดหัวลำโพง เป็นเพียงการลดบทบาทสถานีรถไฟกรุงเทพเท่านั้น โดยที่หัวลำโพง จะยังมีการเดินรถขบวนชานเมืองเข้าสู่หัวลำโพงอยู่ ส่วนรถทางไกล จะสิ้นสุดขบวนที่สถานีกลางบางซื่อ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ย้ำว่า ข่าวทุบหัวลำโพง เป็นเฟกนิวส์ เพราะหัวลำโพง ยังมีรถไฟวิ่งเข้าสถานีอยู่ เพียงแต่จะลดบทบาทสถานี หลังเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบัน มีขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง 118 ขบวน โดยตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมนี้ จะปรับลดเหลือ 22 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือ,ตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ขบวน, สายใต้ 2 ขบวน และสายตะวันออก 14 ขบวน วัตถุประสงค์หลัก เพื่อช่วยลดจุดตัดใน กทม. 27 จุด และลดจำนวนการปิดกั้นถนน จากวันละ 826 ครั้งต่อวัน เหลือ 112 ครั้ง หรือลดลง 86% ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้

ด้านนางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการ รฟท. และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท กล่าวว่า เอสอาร์ที ตั้งตามมติ ครม. โดย รฟท.ถือหุ้น 100% เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ของ รฟท.ที่ไม่ใช่รางรถไฟ เพื่อให้เกิดรายได้ และผลตอบแทนกับ รฟท. ส่วนพื้นที่หัวลำโพง 120 ไร่ในอนาคต มีแผนจะพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อผู้ใช้บริการและชุมชนโดยรอบ พัฒนาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ปรับทัศนียภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่เชื่อมต่อการเดินทาง สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่เชิงวัฒนธรรม รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์

ส่วนทางฝั่งที่คัดค้าน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. บอกถึงสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดเดินรถเข้าหัวลำโพง เพราะจะกระทบกับผู้ใช้บริการ แต่หากในอนาคต มีการเชื่อมต่อการเดินทางที่ครอบคลุม และให้สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟและพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยลดจำนวนขบวนรถที่เข้าสถานีหัวลำโพง ค่อยมาคุยกันในภายหลัง และมองว่า การนำภาระหนี้ในอนาคต มารวมกับหนี้ปัจจุบัน แล้วบอกว่า รฟท.มีหนี้ถึง 600,000 ล้านบาท ถือว่าไม่เป็นธรรมกับการรถไฟฯ และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บอกว่า การจะปิดหรือไม่ปิดหัวลำโพง ต้องทำประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ พร้อมขู่ด้วยว่า หาก รฟท.จะเปลี่ยนสีผังเมืองของสถานีหัวลำโพง จากสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นที่ดินหน่วยงานราชการไม่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ให้เป็นสีแดง ที่ดินประเภทพาณิชย์กรรม จะไปฟ้องศาลปกครองแน่

ในมุมวิชาการ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สนับสนุนการย้ายศูนย์กลางระบบรางไปยังสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากพื้นที่มีความเหมาะสม และรองรับรถไฟได้หลายประเภท รวมถึง ทางคู่ และความเร็วสูง ที่ในอนาคตจะมีจำนวนเที่ยววิ่งเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญคือการเชื่อมต่อการเดินทางให้เกิดความสะดวก แต่สิ่งที่กระทรวงคมนาคม จำเป็นต้องทำต่อคือการสร้างให้การเดินทางสะดวกขึ้น ดึงคนมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และต้องเร่งแก้ปัญหา โครงการ Missing Link ที่ล่าช้ามานาน ทำให้การเดินทางไม่เชื่อมต่อ

ขั้นตอนหลังจากรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และรฟท.จะรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ไปประกอบการพิจารณา ก่อนถึงวันที่ 23 ธันวาคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น