กรมสมเด็จพระเทพฯ ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ พร้อมพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2563
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวังจันทร์วัลเลย์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2563 จำนวน 17 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาเอกจำนวน 13 ราย และระดับปริญญาโท จำนวน 4ราย และพระราชทานทุนการศึกษา “ศรีเมธี” ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 6 ราย รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 4 โดยมี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานที่ปรึกษานโยบายสถาบันวิทยสิริเมธี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันสถาบันวิทยสิริเมธี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และคณะผู้บริหารจาก กลุ่ม ปตท. ร่วมกับผู้บริหารสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
นายอรรถพล เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. มุ่งพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ โดยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา(ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2558
สถาบันวิทยสิริเมธี เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผ่านการเรียน การสอนแบบบูรณาการ เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล โดยปัจจุบันมีนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) เปิดสอนใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ 1. สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล 2. สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. 3. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ 4. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (Frontier Research Center: FRC) ที่เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย
บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2563 ทำหน้าที่เป็นวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร และตำแหน่ง อื่น ๆ ที่สำคัญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. และบริษัทเอกชนชั้นแนวหน้าของไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ VISTEC ผลิตผลงานวิจัยในด้าน Chemical Sciences คิดเป็นกว่าร้อยละ 53 ของผลงานวิจัยภายในประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานมีความความโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพ (High Quality) และด้านผลกระทบต่อวงการวิชาการ (High Impact Discoveries) ในระดับสูงทั้งสิ้น ทำให้สถาบันฯ ได้รับการจัดอันดับโดย Nature Index ขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย “ชั้นเลิศ” ทั้งในด้านเคมี (Chemistry) ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Life Sciences) และด้านวิทยาศาสตร์แบบรวมทุกสาขา (All Sciences) และอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียนในด้านเคมี (Chemistry) อีกด้วย (โดยอันดับที่ 1 และ 2 เป็นมหาวิทยาลัยจากประเทศสิงคโปร์) ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 76 คน สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ จำนวน 22 คน ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ชั้นนำในประเทศ 54 คน ปัจจุบัน โรงเรียนได้เปิดดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 7 ปี มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 4 รุ่น รวม 280 คน โดยไปศึกษาต่อทางด้านสะเต็มศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศจำนวน 174 คน และได้รับทุนไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 100 ลำดับแรกของโลกจำนวน 83 คน นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ได้ขอจดอนุสิทธิบัตรจำนวน 2 เรื่อง จดสิทธิบัตรจำนวน 1 เรื่อง และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการจำนวน 11 เรื่อง
จากนั้น ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงผลงานของโรงเรียน และทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะ พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียน และทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ หอพระโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนได้สนับสนุนการก่อสร้าง เพื่อเป็นที่สักการะ และยึดเหนี่ยวจิตใจของนักเรียน ครู และบุคลากร
ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเมธีสโมสร (Faculty Center) เป็นอาคารขนาด 3 ชั้น ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจาก บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่ม ปตท. เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของคณาจารย์ รวมถึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการพบปะ พูดคุย จัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิด หรืองานวิจัยในรูปแบบผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานที่น่าสนใจอีกด้วย
จากนั้นทรงทอดพระเนตรผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สอดคล้องกับกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม บริเวณ Science Hall อาทิ งานวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชั้นแนวหน้าเพื่ออนาคตสีเขียวที่ยั่งยืน งานวิจัยชีววิทยาสังเคราะห์และตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพสำหรับการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอุตสาหกรรม และนวัตกรรมแบตเตอรี่พลังงานสูงสำหรับห่วงโซ่คุณค่าในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตและทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ในโอกาสนี้ นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) พร้อมด้วย นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารเฝ้ารับเสด็จ และถวายรายงานเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC) ตลอดจนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่รองรับการขยายผลงานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต้นแบบ การทดสอบการใช้งาน และต่อยอดเพื่อการใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่กว่า 44 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ ทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมอื่น ๆ การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) โดยภายในศูนย์วิจัยฯ ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้นักวิจัยสามารถประเมินประสิทธิภาพ ปรับปรุงแก้ไขผลงาน ก่อนนำไปใช้งานจริง อาทิ อาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production Research Facility) ศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ (Smart Facility/ City Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (Future Energy Technology Research Center) และศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Joint Industry Collaboration Center) ที่พร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชน เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ และส่งเสริมให้พันธมิตรสามารถใช้ประโยชน์จาก PTIC เพื่อร่วมผลักดันนวัตกรรมแห่งอนาคตไปด้วยกัน
สำหรับพื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ EECi มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน แบ่งออกเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ จึงนับได้ว่าวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ของประเทศไทย