ธนาคารโลก ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ เหลือ 1% จากเดิม 2.2% จากผลกระทบโควิด สนับสนุนนโยบายขยายเพดานหนี้สาธารณะ ช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ธนาคารโลก (World Bank) สถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พบว่า
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ถูกบั่นทอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่างๆ ยืดเยื้อ เวิลด์แบงก์ จึงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เวิลด์แบงก์ ปรับลดจีดีพีไทยปี 2564 เหลือโต 1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 2.2% จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้าลง และเศรษฐกิจ จะใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้น โดยคาดว่าระบบเศรษฐกิจของไทย จะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 3 ปี
สาเหตุที่ระบบเศรษฐกิจของไทย ฟื้นตัวช้าลง เพราะกระจายวัคซีนล่าช้า โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมประชากร 70% ได้กลางปี 2565 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปีนี้ จะดีกว่าปีก่อน เพราะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว แต่ยังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด ที่มีถึง44 ล้านคน คาดว่า ปีนี้ ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามา 1.7 ล้านคน
นายเกียรติพงศ์ บอกว่า กลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มาจากการส่งออก แต่การส่งออก ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาคอขวดของระบบห่วงโซ่การผลิตและระบบโลจิสติกส์ ขณะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน จะทยอยฟื้นตัว ดังนั้นการใช้มาตรการด้านการคลัง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเห็นด้วยที่รัฐบาลไทย ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี จะช่วยให้ภาครัฐ มีพื้นที่ด้านการคลังเพียงพอ ที่จะประคับประคองระบบเศรษฐกิจ
เวิลด์แบงก์ ระบุว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ ยังจำเป็นต้องวางแผนรับมือกับสถานการณ์โควิดประกอบด้วย 1.การจัดการกับความลังเลในการรับวัคซีน และปัญหาการกระจายวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการฉีด ,2. เพิ่มการตรวจ สืบย้อน และกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ,3.เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนในภูมิภาค เพื่อลดพึ่งพาการนำเข้า และ 4.สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารสุข รวมทั้งจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะช่วยประเทศที่มีศักยภาพจำกัด เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ