xs
xsm
sm
md
lg

กกร.หั่นGDPปีนี้ ติดลบ1.5 ถึง 0% จากพิษโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.ปรับลดเป้าจีดีพีไทยปีนี้ อีกครั้ง เหลือติดลบ 1.5 ถึง 0% หลังโควิดในประเทศ แรงเกินคาด ขณะที่ส่งออกยังดี เพิ่มเป้าเป็น โต 10 ถึง 12% เสนอภาครัฐ อนุญาตให้เอกชน นำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรี

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ประจำเดือนสิงหาคม ผ่านวิดีโอ คอนเฟอร์เร้นท์ ซึ่งมีนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน กกร.โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วม ได้ประเมินภาวะ เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก จากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรงของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องยังสนับสนุนส่งออกของไทยในระยะต่อไป

ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 อีกครั้ง เป็นติดลบ1.5 % ถึง 0 % จากเดิมคาดไว้ที่ 0 ถึง 1.5%  ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ และเพิ่มประมาณการณ์ส่งออกปีนี้ ขยายตัว 10- 12 % จากเดิม คาดไว้ที่ 8-10% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จำเป็นต้องดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐ ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง

กกร.ประเมินการยกระดับและขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด จะกระทบเศรษฐกิจเพิ่มเติม เป็น 300,000-400,000 ล้านบาท โดยพื้นที่สีแดงเข้ม มีสัดส่วนถึง 78% ของจีดีพีประเทศ สถานการณ์ตอนนี้มีการยกระดับใกล้เคียงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายของประชาชนลดลงมาก

หากมีการล๊อกดาว์นแล้ว จำเป็นต้องเร่งทำมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย โดยต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะสายพันธ์เดลต้า ต้องเพิ่มความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีน ,การทำ Home Isolation และ Company Isolation รวมทั้งต้องออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการปิดกิจกรรมทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ภาคเอกชน แบ่งเบาภาระของภาครัฐ ในการดูแลพนักงานของตนเอง และปฏิบัติตัวตามมาตรการต่างๆ โดยหลายแห่งได้ทำ Active Screening ใช้ Rapid Antigen Test Kit เพื่อเร่งแยกคนติดออกมาไม่ให้ระบาดในสถานประกอบการ รวมทั้งดูแลเชื่อมระบบกับโรงพยาบาล และHospital ต่างๆ

กกร. เสนอภาครัฐ 1.ให้ขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษีปีภาษี 2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จนถึงวันที่ 31ธ.ค.65

2.ให้เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จาก 40% เป็น 60% ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น

3.ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเวลา 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax

4.รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19

5.ให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย

6.ให้ อย.เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น

7.ให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19

8.ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ที่กำลังมีความต้องการสูง


ในด้านของช่วยหลือเยียวยา สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ออกมาตรการช่วยหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทั้งมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า และ มาตรการเสริมสภาพคล่อง ล่าสุด ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วน ออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ 29 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ระยะเวลายื่นคำขอตั้งแต่ 19 กรกฎาคม -15 สิงหาคม 2564 โดยจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลความคืบหน้าการยื่นคำขอตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ล่าสุด ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ธปท.รายงานตัวเลขคำขอสินเชื่อฟื้นฟู และได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 82,767 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 27,219 ราย วงเงินเฉลี่ยที่ได้รับการอนุมัติ 3.0 ล้านบาทต่อราย ขณะที่ความคืบหน้าตัวเลขโครงการ "พักทรัพย์ พักหนี้" มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนจำนวนทั้งสิ้น 1,060 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 18 ราย

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับ ธปท.ดำเนินโครงการ Digital Supply chain finance เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME ให้เข้าถึงเงินทุน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะกลาง โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาช่วยธนาคารในการจัดการบริหารความเสี่ยง เพื่อเป็นประโยชน์ใพิจารณาให้สินเชื่อได้มากขึ้น เงื่อนไขดีขึ้น คาดว่า เฟส 1 จะเสร็จสิ้น เพื่อนำไปใช้งานในไตรมาส 4

โดยสมาคมฯ มีแผนขอการสนับสนุนไปยังภาครัฐในการให้ประโยชน์กับธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน platform การพัฒนา e-invoicing platform เป็นส่วนสำคัญของ Thailand Smart Financial Infrastructure เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนแบบ many- to- many ทั้งในช่วงที่ต้องประคับประคองกิจการ และในช่วงฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด และสามารถเป็นฐานในการสร้างแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (National Digital Trade Platform : NDTP) สำหรับการค้าระหว่างประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น