xs
xsm
sm
md
lg

บวท.ขาดสภาพคล่อง ช่วยแอร์ไลน์ต่อไม่ไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บวท. ขาดสภาพคล่องอย่างหนักจากผลกระทบโควิด ไม่สามารถช่วยเหลือ 7 สายการบินในประเทศ ต่อไปได้ หลังจากได้ช่วยลดภาระสายการบินมาตลอด ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก

หลังจากสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 7 สายการบิน คือ บางกอกแอร์เวยส์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทยไลอ้อนแอร์ , ไทยเวียตเจ็ท, ไทยแอร์เอเซียเอ็กซ์ และนกแอร์ เรียกร้องให้รัฐบาล เร่งรัดจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน ,ค่าจอด เพื่อให้สายการบินอยู่ได้ในช่วงวิกฤติโควิด

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา บวท. ช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 ได้ยกเว้นค่าปรับจากการชำระล่าช้าของสายการบิน สำหรับค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ ,ค่าเช่า ,ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์สื่อสาร ส่วนปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายนที่ผ่านมา บวท. เรียกเก็บค่าบริการสำหรับเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศ 50% และขยายเวลาชำระหนี้ในส่วนที่เหลืออีก 50% ออกไปเป็นระยะเวลา 6 รอบบิล ซึ่งกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ บวท. เช่นกัน

นายทินกร กล่าวว่า บวท. ช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินอย่างเต็มกำลังความสามารถ ภายใต้สภาพคล่องที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยปัจจุบัน บวท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะรายได้หลักของ บวท. มาจากการให้บริการการเดินอากาศ เมื่อปริมาณเที่ยวบินลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้จึงลดลงมากเช่นกัน แม้ บวท. จะปรับลดค่าใช้จ่ายในองค์กร ที่ไม่กระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการแล้วก็ตาม แต่รายได้ ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น


หากดูสถิติการให้บริการจราจรทางอากาศเที่ยวบินพาณิชย์ ที่บินเข้า-ออก ผ่านน่านฟ้าไทย ตั้งแต่ ตุลาคม 2563 - มิถุนายน 2564 มีปริมาณเที่ยวบินลดลง 56 % และหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ปริมาณเที่ยวบินลดลงสูงถึง 72 % ส่งผลให้รายได้ของ บวท.ลดลงมาก คาดว่า ตลอดปีงบประมาณนี้ บวท. จะขาดทุน 6,600 ล้านบาท และมองว่า ผลกระทบจากโควิด จะส่งผลกระทบไปถึงปี 2565 ประกอบกับสายการบิน ชำระหนี้เพียง 52 % ของหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ทำให้ บวท. มีปัญหาขาดสภาพคล่องเช่นกัน จึงไม่สามารถช่วยเหลือสายการบินต่อไปได้ โดย บวท. เอง ก็ต้องจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 2564 - 2565 ตามแผนบริหารหนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน บวท. ยังดำเนินมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น