“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ยื่นหนังสือลาออกจากดีดีการบินไทย มีผล 1 ก.ค.64 หลังศาลล้มละลาย เห็นชอบให้เป็นทีมบริหารแผนฟื้นฟู พร้อมตั้ง "สุวรรณธนะ สีบุญเรือง” ประธานฝ่ายบุคคล รักษาการดีดีแทน ก่อนเร่งสรรหาคนใหม่
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่อง “การลาออกจากตำแหน่ง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร” แต่นายชาญศิลป์ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล้วแต่เหตุใดจะถึงก่อน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ และในวันเดียวกัน ผู้บริหารแผนฯได้ประชุม และมีมติแต่งตั้งนายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีกตำแหน่ง ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่ 16 มิถุนายน - 30 กันยายน2564
นอกจากนี้กรรมการบริษัท 3 คนลาออกได้แก่ 1.พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ศิษยะศริน กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริษัท 2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองประธาน กรรมการคนที่ 2 3.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการอิสระ มีผลตั้งแต่ 15 มิถุนายน2564
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การลาออกจากตำแหน่งดีดี เพื่อมานั่งทำงานในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และจะเปิดสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทนโดยเร็ว
นายชาญศิลป์ ยังชี้แจงขั้นตอน หลังจากศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยแล้ว หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายพรชัย ฐีระเวช, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ,นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร บริหารธุรกิจของบริษัท และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการเจ้าหนี้ คือ กระทรวงการคลัง ,ธนาคารกรุงเทพ ,ธนาคารออมสิน ,สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ,บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต และสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินหน้าฟื้นฟูการบินไทยให้สำเร็จ
ประเด็นที่ การบินไทย ต้องเร่งดำเนินการ คือ ขณะนี้กระแสเงินสดที่มี อยู่ได้ไม่ถึงปลายปี 2564 จึงเตรียมเจรจาหาเงินทุนก้อนใหม่ เข้ามาเสริมสภาพคล่องตามแผนฟื้นฟู โดยรูปแบบของเงินใหม่ที่จะเข้ามา มีหลากหลาย ทั้งเงินกู้, เพิ่มทุน, ขายทรัพย์สิน โดยจะทยอยหาแหล่งเงินตามความต้องการใช้เงิน
ระยะเวลาที่ การบินไทย จะออกจากแผนฟื้นฟูตามกฎหมายกำหนดไว้ภายใน 5 ปี และสามารถต่ออายุครั้งละ 1 ปี ได้ 2 ครั้ง รวมเป็น 7 ปี โดยบริษัทต้องมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ก่อนออกจากแผนฟื้นฟู 2 ปีสุดท้าย เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัท มั่นใจว่า จะออกจากแผนฟื้นฟูได้ตามแผน ภายใน 5 ปี หรือ เร็วกว่านั้น และประเมินในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ประเทศไทย จะกระจายฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม ซึ่งจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว,ธุรกิจสายการบิน กลับมาทำธุรกิจได้ดีขึ้น
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า อยู่ระหว่างเจรจาสถาบันการเงินทั้งเอกชนและรัฐ หาเงินทุน 25,000 ล้านบาท เข้ามาเป็นเงินทุนหมุนเวียน และนำมาจ่ายชดเชยพนักงาน ที่เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด
ส่วนแผนการลดค่าใช้จ่าย จะปรับลดเครื่องบินเหลือ 60 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินให้เช่าตามสัญญาเช่า 54 ลำ และอีก 6 ลำ การบินไทยเป็นเจ้าของเอง จากเดิมที่เคยมี 102 ลำ และพร้อมจะจัดหาเครื่องบินเพิ่ม ตามภาวะธุรกิจการบิน เป็นประมาณ 80 ลำ ในปี 2568
สำหรับแผนการหารายได้ ใน 5 ปีข้างหน้า ได้วางแผนตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีศักยภาพ เช่น ครัวการบินไทย เปิดภัตตาคารอร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้ และล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาใหม่ที่ภูเก็ต เพื่อรองรับ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์”