xs
xsm
sm
md
lg

“วัคซีน” ความหวัง ฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้ง กังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 แต่ยังอยู่ในระดับดีกว่าการระบาดในทุกช่วงที่ผ่านมา จากความหวังการฉีด “วัคซีน”

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนเมษายน 2564 ปรับตัวลดลงอีกครั้ง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ระลอกใหม่ แต่การลดลงของความเชื่อมั่นในครั้งนี้ ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าการลดลงในช่วงของการระบาดของไวรัส Covid – 19 ทุกช่วงที่ผ่านมา

สนค. สำรวจข้อมูลจากผู้บริโภคใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ครอบคลุม 884 อำเภอ/เขต และครอบคลุม 7 กลุ่มอาชีพ (เกษตรกร พนักงานเอกชน ผู้ประกอบการ รับจ้างอิสระ พนักงานของรัฐ นักศึกษา และไม่ได้ทำงาน) จำนวน 7,499 ชุด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.5 เทียบกับระดับ 47.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ในทุกภาคและทุกอาชีพ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับลดลงจากระดับ 52.3 มาอยู่ที่ระดับ 48.2

หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 47.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.5 และภาคเหนือ ปรับตัวลดลงจากระดับ 45.8 มาอยู่ที่ระดับ 43.5

และเมื่อจำแนกรายอาชีพ ก็ลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มไม่ได้ทำงาน ปรับลดลงจากระดับ 42.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.2 กลุ่มรับจ้างอิสระ ปรับลดลงจากระดับ 45.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.0 เนื่องจากทั้งสองกลุ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ ส่วนกลุ่มพนักงานของรัฐ ปรับลดลงจากระดับ 52.5 มาอยู่ที่ระดับ 49.6 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังคงมีความเชื่อมั่นสูงกว่าทุกกลุ่ม


นายภูสิต ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการระบาดของไวรัสโควิค-19 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับและต้องเข้าใจถึงความกังวลของบริโภค ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นเรื่องปกติ แต่การลดลงในครั้งนี้น้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เทียบกับการระบาดรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.1

การระบาดในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.0 และการระบาดในเดือนมกราคม 2564 ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2 จะเห็นได้ว่าการระบาดในรอบนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สาเหตุน่าจะมาจากการที่เรายังมีความหวังจากวัคซีนซึ่งน่าจะทะยอยดำเนินการได้ต่อเนื่อง และสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยให้ประชาชนบางส่วนยังเชื่อมั่น

ผู้อำนวยการ สนค. หวังว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดให้กลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดได้โดยเร็ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจอันเข้มแข็ง และแนวโน้มการฟื้นตัวที่มีสัญญานดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงก่อนการระบาด ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบ น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับเข้าสู่ทิศทางเดิมและพร้อมจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยปรับตัวดีขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น