xs
xsm
sm
md
lg

จากดาวน์สู่ดาว! “เสือ” เมล็ดพันธุ์แห่งการทุ่มเท จากเด็กดาวน์ซินโดรมสู่ครูจิตอาสา-นักกีฬาทีมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “เสือ” เด็กดาวน์ซินโดรม ผู้ประสบความสำเร็จจากการทุ่มเทของคุณแม่และการฝึกพัฒนาการ จนสามารถเรียนจบปริญญาตรี-ทำงานมีรายได้ นอกจากนี้ยังมีหัวใจแห่งการให้ ด้วยการเป็นครูจิตอาสา ทั้งยังเป็นนักกีฬาทีมชาติอีกด้วย



แต่ละปี ประเทศไทยมีคุณแม่ให้กำเนิดลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมหลายร้อยคน ซึ่งผู้ปกครองบางคนอาจเลือกที่จะเก็บลูกไว้ ไม่พาออกไปไหน เพราะอายที่มีลูกเป็นเด็กดาวน์


แต่สำหรับคุณแม่ “โสภา สุจริตกุล” ซึ่งมีลูกชายคนแรกปกติดี แต่ลูกชายคนเล็ก “ฉายวิชญ์” หรือเสือ เป็นดาวน์ซินโดรม แม่ไม่กลัว ไม่อายที่ลูกเป็นเด็กดาวน์ และพร้อมทุ่มเทด้วยการลาออกจากงาน เพื่อฝึกพัฒนาการให้ลูก


“ต้องทำใจให้ได้ ยังไงเขาเป็นลูกเราแล้ว แม่คุยกับแฟนว่า แลกแล้วนะ เราอายุแค่นี้จะจ้างคนมาดูแลไม่ได้แล้ว จะมาให้เขานอนอย่างนี้ไม่ได้ ไม่เคลื่อนไหวเลย ไม่ได้แล้ว ไปพาลูกออกจากโรงพยาบาล และไปสถาบันราชานุกูล อายุ 21 วันเองไปราชานุกูล”


“พาเขาไปฝึกกระตุ้นพัฒนาอาทิตย์ละครั้ง ฝึกเด็กดาวน์จะฝึกยากหน่อย ทุกอย่างเขาอ่อนหมด ลิ้นก็ยาวมาถึงนี่ (เกือบถึงคาง) ดูดนมไม่ได้ กระตุ้นเขามาเรื่อยๆ ต้องขอบพระคุณทางสถาบันราชานุกูลที่ให้เขามีทุกวันนี้”


ออกกำลังกาย ลดโรคให้ลูกได้

“เขาเกิดมาพร้อมกับโรคดาวน์ซินโดรม มีต้อในตา ต้องไปผ่าตัด ต้อผ่าตัดตอนอยู่ ป.3-ป.4 และหัวใจรั่ว ผนังหัวใจรั่วข้างล่างกับข้างบน 2 รู ไม่ปิดเอง ตอนแรกจะผ่า ตอนหลังไม่ต้องผ่า แม่ขอแนะนำผู้ปกครองที่มีลูกเป็นหัวใจรั่ว ต้องพยายามให้กลุ่มเด็กดาวน์ออกกำลังกาย เพื่อเขาจะได้แข็งแรง ไม่ใช่ได้เฉพาะข้างนอกนะ ข้างในเขาก็ได้ด้วย เพราะเสือไม่ต้องผ่าตัดหัวใจเลยนะ ตอนแรกจะผ่าตัดตอน 6 ขวบ พอไปซาวน์ฯ ผนังหัวใจที่รั่ว มันปิดไปเอง”


น่าเห็นใจเด็กดาวน์ แทบไม่มีโรงเรียนไหนอยากรับเข้าเรียน!!

“โห! สมัยก่อน พูดแล้ว น้ำตาจะไหล เขานึกว่าลูกเราจะเป็นโรคติดต่อ แม่ต้องบอกว่า ดาวน์ซินโดรมไม่ใช่โรคติดต่อนะ แม่ต้องไปกราบเขานะ ให้เขาไปเรียนอนุบาล ทางราชานุกูลรับรองว่าเสือต้องไปเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ 3 ขวบ ได้มาเรียนกับอนุบาลเปี่ยมปัญญา ใกล้ๆ บ้านตรงสาย 2 ไปหลายที่มาก เขาดูแล้ว กลัวลูกเราไปแกล้งคนอื่น”


โชคดีได้เพื่อนและครูเข้าใจ สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค

“อยู่ราชวินิตฯ ครูเข้าใจทุกคน เพื่อนดีด้วย ได้เพื่อนดี และแม่ก็ไม่ทิ้งให้ครูเด็ดขาดว่า การเรียนการสอน ลูกเราขาดอะไร บอกนะ เราจะมาเสริม ถ้าเสริมที่โรงเรียนไม่ทัน เราจะมาเสริมที่บ้าน ทุกที่แม่จะทำอย่างนี้มาจนถึง ปวช.แม่ถึงปล่อย ให้เขาดำเนินชีวิตของเขาได้บ้าง ให้เขาไปโรงเรียนเอง กลับเอง”


นอกจากส่งเสริมให้ลูกได้เรียนร่วมกับเด็กปกติแล้ว คุณแม่ยังพร้อมต่อยอดให้เสือได้เรียนในสิ่งที่ชอบตั้งแต่เด็ก เช่น ดนตรี กีฬา และการเต้น ทำให้เสือเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน ระนาด ส่วนกีฬา ได้แก่ โบว์ลิ่ง ขณะที่การเต้น เสือชอบและมีพรสวรรค์ด้านนี้มาก

ปัจจุบัน เสือกับวัย 32 ไม่ใช่แค่เต้นได้พลิ้วและขั้นเทพมาก แต่เสือยังสามารถคิดท่าเต้นได้เอง ไม่ต้องลอกเลียนแบบใครอีกด้วย


จาก “ดาวน์ซินโดรม” ก้าวสู่ “ครูจิตอาสา-นักกีฬาทีมชาติ”!!

เสือเป็นเด็กดาวน์ที่สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้สำเร็จ จากคณะดุริยางคศาสตร์ สาขาสหการดนตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยจบมา 5 ปีแล้ว เสือไม่เพียงจบปริญญา แต่ยังนำวิชาความรู้ด้านดนตรีไปประกอบและมีรายได้ นอกจากนี้เสือยังมีหัวใจจิตอาสา ชอบช่วยเหลือสังคม และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กพิเศษ โดยอาสาไปเป็นครูสอนวิชานันทนาการดนตรีและการเต้น ที่โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค โรงเรียนที่เสือเคยมีโอกาสได้ร่ำเรียนมา


“ครูฉายวิชญ์ หรือครูเสือ เป็นศิษย์เก่าที่เรียนจบไปแล้วหลายปี เป็นคนน่ารักมากเลย ครูเสือสอนมาน่าจะประมาณสัก 3 ปี เราจะเห็นเด็กแต่ละรุ่นที่ได้เรียนกับครูเสือ เด็กๆ อยากให้ถึงวันที่ครูเสือเข้ามา”เมตตา ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิตประถมบางแค


ขณะที่ สมยศ พวงเกตุแก้ว อาจารย์โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค ซึ่งเคยเป็นครูประจำชั้นของเสือ ก็รู้สึกดีใจมากที่ลูกศิษย์คนนี้อาสามาช่วยพัฒนาเด็กพิเศษที่นี่

“ภูมิใจมาก เด็กเราจบปริญญาตรีแล้วนะ และมีความสามารถ บางทีเก่งกว่าครูอีก เต้นแอโรบิกเก่งกว่าครูอีก ครูสอนพละด้วยนะ เขาออกสเต็ปเท้าสเต็ปร่างกายได้พลิ้วมากเลย ได้รู้ว่าเขาเรียนเกี่ยวกับสาขานี้โดยตรง รู้สึกดีใจและดีใจยิ่งขึ้น เขาอาสาที่จะมาพัฒนาเด็กในสายชั้นของการศึกษาพิเศษด้วย และเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้วย”


นอกจากเป็นครูจิตอาสาแล้ว เสือยังเป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งทีมชาติไทย คว้ารางวัลชนะเลิศประเภททีมโบว์ลิ่งคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทยมาแล้ว รวมทั้่งเป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งพาราลิมปิกดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทยอีกด้วย


เด็กดาวน์...หัวใจจิตอาสา!!

งานจิตอาสา เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เสือรัก และชอบทำเป็นชีวิตจิตใจ โดยได้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับมูลนิธิ Five For All มา 10 กว่าปีแล้ว มูลนิธิฯ ที่ช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพเด็กพิเศษ รวมทั้งเสือมาโดยตลอด


“(ถาม-เวลาไปทำงานจิตอาสา ทำอะไรบ้าง?) ไปช่วยเหลือคนขาหูตาบอด หูหนวก ไม่ได้ยิน ให้พูดภาษามือได้ (ถาม-สนุกไหมเวลาไปทำจิตอาสา?) สนุก (ถาม-ไม่เหนื่อยหรือ?) ไม่เหนื่อย ต้องออกกำลังกายบ้าง เดินบ้าง (ถาม-ไปช่วยคนอื่น ตังค์ก็ไม่ได้นะ ไปช่วยเขาทำไม?) เพราะผมไม่เคยเหนื่อยเลย ใจไม่ท้อ ต้องอดทน แดดร้อนต้องอดทน”

ด้วยหัวใจจิตอาสาและเปี่ยมด้วยการให้ของเสือ ที่แบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ทำให้เสือได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เช่น รางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นฯ และรางวัลคนพิการดีเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ


หากถามถึงความคาดหวังของ “แม่” ที่มีต่อ “ลูก” คนนี้

“ให้เขาอยู่ในสังคมได้ เลี้ยงตัวเองได้ อยู่กับครอบครัว กับคนอื่นได้ อยู่กับพี่น้องได้ อยู่กับชุมชนได้ ณ ตอนนี้เขาก็โอเคอยู่นะ ถ้าตอนเราไป แม่ว่าเขาก็น่าจะอยู่ได้ คาดหวังให้เขาอยู่ได้ ถ้าเราไม่อยู่”


คุ้มแล้วที่ “แม่” ตัดสินใจลาออกจากงานมาทุ่มเทฟูมฟักลูก

“แม่คิดว่าคุ้มนะ แม่แลกชีวิตเขากับตัวแม่ ตัวแม่ทำงาน แม่ก็แลกกับเขา ทำให้คนๆ หนึ่ง เด็กดาวน์คนหนึ่งเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีงานทำ เป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม”


ส่วนความรู้สึกของ “เสือ” ที่มีต่อแม่ ที่ทุ่มเทเพื่อลูกมาตลอด

“แม่ทำให้เสือรักมาก (น้ำตาไหล) ถ้าเสือไม่มีแม่ จะทำยังไง ผมรู้ว่ารักแม่ รักพ่อ ...ตอนนี้เสือโตแล้ว อยากให้แม่รักเสือนานๆ มีความสุขไปด้วยกันทั้งหมด (ถาม-ตอนเด็กจำได้ไหมว่าแม่เลี้ยงมายังไงบ้าง แม่เหนื่อยแค่ไหน?) เหนื่อย อยากให้แม่พักผ่อน ผ่อนคลาย ไม่อยากให้แม่ทำงานเยอะมาก แม่ผมประชุมบ่อย ทำงานเหนื่อย …อยากให้แม่อยู่กับเสือ (ถาม-บอกรักแม่หน่อย รักแม่แค่ไหน?) แม่ครับ ไอเลิฟยูครับผม”


เสือ...เด็กดาวน์กตัญญู!!

ความรักที่เสือมีให้บุพการี ไม่เพียงส่งผ่านวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ ที่เสือจะประดิษฐ์การ์ดวิดีโอผ่านคอมพิวเตอร์ให้ แต่รายได้จากการทำงาน เสือยังให้แม่-พ่อ รวมทั้งพี่ชายและพี่สะใภ้อีกด้วย


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “เสือ...จากดาวน์สู่ดาว”
https://www.youtube.com/watch?v=Z2YIVrkuyLw

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น