xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่า พร้อมชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่า เตรียมความพร้อมชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2565 ระดมความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคการพัฒนาภารกิจในทุกมิติ นำเสนอกระทรวงคมนาคม ภายในสัปดาห์หน้า

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยหลังการประชุมเตรียมความพร้อมชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2565 ว่า กรมเจ้าท่า มีเป้าหมายสำคัญในปี 2565 คือ " IMO ต้องผ่าน น่านน้ำไทยต้องปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนากิจการพาณิชยนาวี " โดยมีภารกิจการกำกับดูแล ส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง

การดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย ,กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน ,กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ,กฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี

การจัดระเบียบการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ร่วมมือ และประสานงานกับองค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในด้านการขนส่งทางน้ำ การพาณิชยนาวี และในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ภายใต้งบประมาณ ประจำปี 2565


อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมฯ มีผลงานที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่
1. การพัฒนาและบำรุงโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ประกอบด้วย
- การก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เกาะสมุย การก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหมู่ 5 ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ดำเนินการแล้วเสร็จ
- การปรับปรุงท่าเรือโดยสารในแม่น้ำและคลองสาขา พัฒนาท่าเรือโดยสารรองรับผู้สูงอายุและคนพิการก่อสร้างพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือโดยสารในแม่น้ำ (สถานีเรือ) ได้แก่ ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือท่าเตียน, ท่าเรือเกียกกาย, ท่าเรือบางโพ อยู่ระหว่างดำเนินการ
- การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ จำนวน 8 ร่องน้ำ ได้แก่ สงขลา (ร่องนอก), บ้านดอน, แม่น้ำโขง ทางเข้าท่าเทียบเรือเชียงแสน 2, ปากพนัง, สมุทรสาคร (ท่าจีน), ทางเข้าท่าเรือกรุงเทพร่อง 2, ปัตตานี และบางปะกง เนื้อดินประมาณ 9,535,100 ลบ.ม. อยู่ระหว่างดำเนินการ
- การขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย (บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) จำนวน 1 ร่องน้ำ (ขุดลอกร่องน้ำ ร่องกลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จ.สงขลา (ตั้งแต่ กม.2 - กม.4) เนื้อดินประมาณ 500,000 ลบ.ม.) อยู่ระหว่างดำเนินการ

2. การกำกับดูแลความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ
- จัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบบริหารรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญ 2 แห่ง (อัมพวา, คลองดำเนินสะดวก) อยู่ระหว่างดำเนินการ
- จ้างที่ปรึกษาสำรวจจัดทำแผนที่ และรายละเอียดของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลทะเลสาบ และแม่น้ำภายในประเทศ (ระยะที่ 2 วงเงิน 349 ลบ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ
- งานก่อสร้างและจัดหาระบบตรวจการณ์ชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่างและอันดามัน (VTS ระยะที่ 3) (พื้นที่ชายฝั่งทะเล อันดามัน และอ่าวไทยตอนล่าง) อยู่ระหว่างดำเนินการ

3. การส่งเสริมการพาณิชยนาวี
- งานพัฒนาด้านการพาณิชย์นาวี ผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยปีการศึกษา 2564 มีผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นแล้ว จำนวนกว่า 1,575 คนและนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ (หลักสูตรระยะยาว) จำนวน 113 คน (ผลการดำเนินงานปี 2563)


อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การดำเนินการด้านงบประมาณ และการใช้จ่ายต้องมีความรอบคอบ เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่า ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำอย่างเชื่อมโยง มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ”

ทั้งนี้ ในการนำเสนอข้อมูลประกอบการชี้แจงคณะกรรมมาธิการวิสามัญฯ ได้สั่งการให้ปรับข้อมูลและรูปแบบฯ ให้มีความถูกต้อง ชัดเจน ทันสมัย น่าสนใจ ในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก หรือวิดิโอนำเสนอฯ ให้มีความเหมาะสม เพื่อพร้อมนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น