xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม”ห่วงโควิดดันหนี้ครัวเรือน หนุน“Happy Money”เสริมแกร่งสุขภาพการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีคลัง ห่วงภาระหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ระดับสูง จากผลกระทบโควิด ทำให้รายได้ประชาชนลดลง เดินหน้าร่วมมือพันธมิตรทั้งรัฐและเอกชน สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงานเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 86.6% ของจีดีพี จากก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 78.9% สะท้อนภาวะวิกฤติและความเปราะบางในด้านสถานะทางการเงินของคนไทย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทย เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นภายในปี 2566 ซึ่งจะมีจำนวนประชากร ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากรรวม ทำให้การวางแผนทางการเงินและการออมรองรับยามเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้คนไทยมีเงินรองรับเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน และไม่จำเป็นต้องทำงานต่อ ซึ่งปัจจุบันคนไทยในวัยเกษียณส่วนใหญ่กว่า 90% ยังต้องพึ่งพาบุตรหลานและยังต้องทำงานอยู่ มีเพียง 2.3% เท่านั้นที่เป็น กลุ่ม ที่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้

นายอาคม กล่าวว่า แผนงานของกระทรวงการคลัง จะพยายามทำให้คนไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น ,มีทักษะ ความรู้ด้านการเงินที่ดี และสนับสนุนการออมเพิ่มขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน หาแนวทางสร้างวินัยการออม ,ยกระดับการพัฒนาโครงสร้างต่างๆของตลาดเงิน-ตลาดทุน เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ประชาชน มีช่องทางการออมที่หลากหลาย และสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ เพื่อให้คนไทยบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องคือการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้แก่ประชาชน (financial literacy) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ชีวิต ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ตั้งแต่ปี 2552 โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนรวมแล้ว 523 แห่ง สร้างพี่เลี้ยงการเงิน 6,003 คน สร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านการออมการวางแผนการเงินให้ทั่วถึงและต่อเนื่อง ครอบคลุมพนักงานในองค์กรต่างๆ แล้ว 2.4 ล้านคน และคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะส่งเสริมความรู้ประชาชนรวมกว่า 3ล้านคนทั่วประเทศ

นายภากร กล่าวว่า โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ที่ดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออมและการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ สนับสนุนองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการให้ส่งต่อความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการให้ความรู้ผ่านโมเดลพี่เลี้ยงการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้สามารถบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำความรู้ไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และประชาชนทั่วไป

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามต่ออายุ MOU ส่งเสริมความรู้ทางการเงินร่วมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต่อเนื่องเพื่อผนึกกำลังขยายการทำงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม


ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ภารกิจการดูแลสมาชิก กบข. กว่าล้านคนทั่วประเทศนั้น นอกเหนือจากการนำเงินออมของสมาชิกไปบริหารสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงสำหรับชีวิตในวัยเกษียณแล้ว กบข. ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมและการลงทุนอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมา กบข. และ ตลท. ได้ร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนการเงินให้แก่สมาชิก กบข. อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาระบบ e-Learningเพื่อให้สมาชิก กบข. ได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม รวมทั้งได้จัดทำคู่มือส่งเสริมความรู้ทางการเงินฉบับสมาชิก กบข. และร่วมบรรยายให้ความรู้สมาชิก กบข. โดยผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับความร่วมมือในอนาคต กบข. จะประยุกต์องค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เข้ากับบริบทของสมาชิก กบข. มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สมาชิกสามารถบริหารเงินออมใน กบข. ได้อย่างเข้าใจ และบรรลุเป้าหมายในการมีเงินออมยามเกษียณที่เพียงพอ

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)กล่าวว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาในลักษณะต่างๆ โดยกองทุนได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งแต่ปีการศึกษา2562 เป็นต้นมา ในการนำองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ ได้แก่ e-Learning ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำมาให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม บุคลากรในสถานศึกษา และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การวางแผนการเงิน การลงทุน และความเป็นผู้ประกอบการ ผ่านระบบ SET e-Learning ซึ่งมีหลักสูตรให้เลือกเรียนกว่า 15 หลักสูตร

เมื่อนักเรียนนักศึกษาผู้กู้ยืมเรียนจบแต่ละหลักสูตร สามารถนำไปสะสมจำนวนชั่วโมงจิตสาธารณะให้ครบตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่เข้าเรียนหลักสูตร SET e-Learning แล้วจำนวนกว่า 560,000 ราย ทั้งนี้กองทุนคาดว่าหากผู้กู้ยืมเงินมีความรู้ทางการเงิน จะสามารถบริหารจัดการรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนตามกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป โดยกองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลานและนักเรียน นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน


นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) กล่าวว่า กอช.มุ่งเสริมสร้างระบบบำนาญให้แก่ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร นักเรียน นิสิตและนักศึกษา โดยผู้ที่มีสิทธิสมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี เริ่มต้นออมตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. จะได้รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐตามช่วงอายุของสมาชิก สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี และเงินออมสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนโดยความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการสร้างวินัยการออม การลงทุน รวมถึงการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านการออมกับ กอช.ทำให้มีสุขภาพการเงินที่ดี

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังช่วยส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน ภาคีเครือข่าย พนักงาน สมาชิก กอช. และกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นสมาชิก กอช. ผ่านองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ การจัดอบรม Train the Trainers การพัฒนาเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กอช. เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของ กอช. การเผยแพร่สื่อออนไลน์สำหรับแรงงานนอกระบบ และนักเรียน นักศึกษา โดยมุ่งหวังให้ กอช. เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยการออมเพื่ออนาคตสำหรับเยาวชนไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น