xs
xsm
sm
md
lg

“ม.มหิดล”ประกาศ ไม่รับทุนทุกรูปแบบจากบริษัทบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม.มหิดล ประกาศนโยบายไม่รับทุนทุกรูปแบบจากบริษัทบุหรี่ พร้อมเชิญชวนมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย แสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วยกัน

ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รศ.ดร นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และ สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นถึงปัญหาการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาสร้างความสัมพันธ์โดยผ่านการให้ทุนการทำวิจัย การศึกษาดูงาน และการอุปถัมภ์อื่นๆ ที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อน มหาวิทยาลัยมหิดลจึงประกาศว่า จะไม่ร่วมมือกับบริษัทบุหรี่และเครือข่ายของบริษัทบุหรี่ในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น และจะถือโอกาสเชิญชวนมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่จะไม่ร่วมมือกับบริษัทบุหรี่เช่นกัน

โดยตลอดปี พ.ศ. 2563-2564 เกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ไปทั่วทั้งโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 121 ล้านคนและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2.68 ล้านคน ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตจำนวนมากเกิดภาวะการหายใจลำบากเฉียบพลันหรือภาวะหายใจล้มเหลว ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดครั้งนี้กลับมีนักวิชาการที่คาดว่า มีสายสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ให้ข้อมูลว่าการสูบบุหรี่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ในขณะที่ข้อมูลของนักวิชาการที่มีความเป็นอิสระ จากมหาวิทยาลัยที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่รับทุนจากบริษัทบุหรี่แสดงให้เห็นว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ความรุนแรงของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีความกังวลว่า นักวิชาการในมหาวิทยาลัยอาจจจะถูกโน้มนำและตกเป็นเครื่องมือของบริษัทบุหรี่ในการให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อสังคม และไปส่งเสริมพฤติกรรมการสูบบุหรี่ มหาวิทยาลัยจึงประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมือหรือรับทุนใด ๆ จากบริษัทบุหรี่ และเครือข่ายของบริษัทบุหรี่ ทุกประเภท


ขณะที่คุณบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาลในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่น มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ได้ประกาศนโยบายไม่รับทุนและไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ กับบริษัทบุหรี่ และเครือข่ายของบริษัทบุหรี่ อาทิ มูลนิธิและองค์กรต่าง ๆ ที่บริษัทบุหรี่จัดตั้งขึ้น ที่สำคัญการที่มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก ประกาศไม่ร่วมมือทุกรูปแบบกับบริษัทบุหรี่นี้ ยังเป็นไปตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกที่องค์การอนามัยโลกจัดทำขึ้นเพื่อช่วยในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอันเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกถึงปีละ 8 ล้านคน

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ที่ห้ามผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์ บุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยการของรัฐ ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย การประกาศงดรับทุนทุกรูปแบบจากบริษัทบุหรี่จึงสอดคล้องกับกฎหมายไทย และ ช่วยให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสามารถทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ไม่ละเมิดกฎหมาย และผลิตผลงานวิชาการที่ก่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น