รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้างานโครงการปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี
วานนี้ ( 16 มีนาคม 2564 ) นายวิทวัส ภักดีสันติสกุล รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ด้านเศรษฐกิจ) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้างานโครงการปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุขวรรณโณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีพร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี
สำหรับการตรวจติดตามความก้าวหน้าในครั้งนี้ นายวิทวัสฯ พร้อมคณะได้รับฟังบรรยายสรุปรายงานความก้าวหน้าของโครงการงานปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี โดยบริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด ( มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง สัญญาเริ่มต้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ในกรอบวงเงิน 169 ล้านบาท (หนึ่งร้อยหกสิบเก้าล้านบาท) โดยมีความคืบหน้าของโครงการฯ 14.72 %( ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564 )
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มีสายการบินที่เปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ จำนวน 5 สายการบิน เป็นประจำทุกวัน ในเส้นทาง สุวรรณภูมิ - สุราษฎร์ธานี - สุวรรณภูมิ โดยสายการบินไทยสมายด์และสายการบินไทยเวียดเจ็ตแอร์
และเส้นทางดอนเมือง - สุราษฎร์ธานี - ดอนเมือง มีสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์
รองอธิบดีฯ ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานทุกคน ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องการแพร่ระบาดเชื้อโคโรนา 2019 ( COVID -19) อย่างเคร่งครัด เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่ ล้างมือบ่อยๆ
ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รับผู้โดยสาร
ท่าอากาศยาน สุราษฎร์ธานี ได้ตั้งจุดลงทะเบียนสแกนคิวอาร์โค้ด “ไทยชนะ” เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าออกของผู้โดยสาร ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมและยังคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานจะต้องสวมหน้ากากอนามัยและผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส
ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น จุดรับรอรับกระเป๋าสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสาร (Check – in counter) ที่นั่งรอก่อนการเดินทางได้จัดให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
สำหรับการรักษาความสะอาด ท่าอากาศยานทุกแห่งได้ดำเนินการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารก่อนจุดรับกระเป๋าทุกเที่ยวบิน พร้อมตั้งจุดบริการเจล แอลกอฮอร์ล้างมือตามจุดต่าง ๆ และทำความสะอาดโดยใช้แอลกอฮอร์และน้ำยาฆ่าเชื้อ ในบริเวณพื้นอาคาร ห้องน้ำ รถเข็น เก้าอี้ที่พักผู้โดยสาร ราวบันได ลิฟต์โดยสาร และอุปกรณ์สำหรับให้บริการ และอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ตามจุดต่าง ๆ ทุกชั่วโมงหรือหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทุกเที่ยวบิน รวมถึงทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในอาคารที่พักผู้โดยสาร ทุกสัปดาห์ ตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด -19 ของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด