ลงนามแล้ว! สัญญาร่วมทุน รฟม.,NBM ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ศรีรัช-เมืองทองธานี คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 37 เดือน แล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2567
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ อาคารสโมสรและหอประชุม ชั้น 3 กระทรวงคมนาคม โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธี เป็นการลงนามระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM
กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี พบว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก อันจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการให้สามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง จึงได้เสนอโครงการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอเรียบร้อยแล้ว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ประกอบด้วย 2 สถานี แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT - 01 และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT – 02 รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจำนวน 13,785 คน/เที่ยว/วัน
กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ พร้อมติดตาม เร่งรัดการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการอื่นๆ ในกำกับดูแล ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ให้สามารถเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม เชื่อมโยงเป็นโครงข่าย และบรรเทาปัญหาจราจรในภาพรวม