รมว.แรงงาน ประชุมร่วมกับ ตัวแทน 39 องค์กรแรงงาน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ“โครงการ ม.33 เรารักกัน” ย้ำนายกฯ กำชับให้ช่วยดูแลทั้งผู้ประกอบการและแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 ภายใต้กรอบกฎหมาย
ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือสถานการณ์ด้านแรงงานกับตัวแทน 39 องค์กรผู้นำแรงงาน โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างการประชุมว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ช่วยดูแลพี่น้องแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งนายจ้างผู้ประกอบการให้เหมือนคนในครอบครัว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย
จากนั้น นายสุชาติ แถลงภายหลังการประชุมว่า ผู้แทนองค์กรแรงงานได้แก่ สภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร สหพันธ์แรงงาน 22 องค์กร คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 39 องค์กร ต่างขอบคุณที่รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐได้ช่วยเหลือไปแล้ว และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเยียวยากลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33
โดยเบื้องต้น ตนได้แจ้งให้เข้าใจหลักเกณฑ์ว่า จะจ่ายเงินคนละ 4,000 บาท โดยทยอยจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท ให้กับจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 สัญชาติไทยเท่านั้น และผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 9 ล้าน 2 แสนคน ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" คาดว่าจะนำเสนอครม.อย่างช้าที่สุด วันที่ 15 ก.พ.นี้ และจะเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16-28 ก.พ.2564 หลังจากนั้นวันที่ 1-7 มี.ค. จะมีการตรวจสอบสิทธิ และ 8-14 มี.ค. จะให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ยืนยันตัวตนบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และเงินจะเริ่มจ่ายเข้าแอปฯ ในวันที่ 15 มี.ค.-5 เม.ย. 2564 และมีกรอบสิ้นสุดการใช้จ่ายถึง 31 พ.ค. 2564 เท่ากับโครงการเราชนะ