กรมอนามัย, อย.และ แม็คโคร ร่วมสร้างความเชื่อมั่นอาหารทะเล ปลอดโควิด ด้วยการยกระดับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังขั้นสูงสุด เพิ่มความเข้นข้นการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิต
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมมาตการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ภายในสาขาและกลุ่มสินค้าอาหารทะเล ที่แม็คโคร สาขานครอินทร์
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บมจ.สยามแม็คโคร บอกว่า ในสถานการณ์ที่ประชาชน กังวลการระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิด-19 และความปลอดภัยในการบริโภคอาหารทะเล แม็คโครได้วางแผนเชิงรุก ยกระดับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังขั้นสูงสุด โดยร่วมกับกรมอนามัย และองค์การอาหารและยา หรือ อย. กำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมมาตรการเสริม เพื่อสร้างความมั่นใจในช่วงการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะสินค้าอาหารสด อาหารทะเล ได้เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิตและการจัดจำหน่าย เพื่อให้ถึงมือผู้ประกอบการและผู้บริโภค อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ แม็คโครได้เพิ่มความเข้มงวดกระบวนการรับและตรวจสอบที่ศูนย์กระจายสินค้า ,กำหนดแนวปฏิบัติเร่งด่วนในการงดรับสินค้าอาหารทะเลสดที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนอาหารทะเลแช่แข็ง ได้เพิ่มความถี่ตรวจเข้มทุกโรงงาน เพิ่มการฆ่าเชื้อตลอดกระบวนการผลิต และเข้มงวดสุขอนามัยในการขนส่ง และกำชับคู่ค้าทุกราย ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
ปกติแม็คโคร มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว คือ 1. การคัดเลือกจากแหล่งปลอดภัย ผู้ผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน, 2.การตรวจสอบคุณภาพและยืนยันความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการ (ISO/IEC 17025), 3.การจัดส่งสินค้าด้วยระบบปิด ควบคุมอุณหภูมิตลอดทั้งกระบวนการ, 4.การควบคุมการจัดจำหน่ายสินค้าตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยของอาหาร ISO 22000 และ5.ตรวจสอบกลับได้ถึงแหล่งที่มาของสินค้า (Traceability)
ผู้บริหาร แม็คโคร ย้ำด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19ตั้งแต่ต้นปีนี้ ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ภาครัฐกำหนด ทั้งรักษาระยะห่าง (Social distancing) กำหนดจำนวนลูกค้าเข้าสาขา 1 คนต่อ 5 ตารางเมตร ด้วยการนับจำนวนคนเข้า-ออก และรายงานจำนวนคนภายในสาขาเป็นระยะ
จัดที่นั่งรอห่างกัน 1 เมตรด้านหน้าสาขา เมื่อปริมาณคนในสาขาเกินกำหนด, ตีเส้นรักษาระยะห่างที่พื้น (Social distancing grid) เป็นสัญลักษณ์ในจุดที่มีความหนาแน่น เช่น แผนกอาหารสด และจุดชำระเงิน และรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบ ตัก อาหารสด เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งเน้นให้บริการชำระเงินแบบ Cashless payment ลดความเสี่ยงจากการสัมผัส เงินสด