ไทย-จีน ลงนามข้อตกลงคุณธรรมและสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา อีก 5 สัญญา วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในปี 2568
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา จำนวน 5 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทคู่สัญญา
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่รัฐบาล ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยสู่โลก ,เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมไทยไปสู่ ลาว และจีน เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงยุโรปได้โดยทางรถไฟ
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญา ในวันนี้ ประกอบด้วย
สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการโดย บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ มีจุดเด่น คือ งานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร
สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคองดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง รวม 26.10 กิโลเมตร
สัญญาที่ 3-4 งานโยธา สำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวดดำเนินการโดย บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีจุดเด่นคือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ถึง 37.45 กิโลเมตร
สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมาดำเนินการโดยบริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร
และสัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ดำเนินการโดย บมจ. ซีวิลเอนจีเนียริง มีจุดเด่น คือ งานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร
ทั้ง 5 สัญญาที่ลงนามวันนี้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 101.15 กิโลเมตร มีวงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว และสนับสนุนให้ไทย เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ช่วยกระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่น ตลอดแนวเส้นทางโครงการ