ก.ล.ต. สัมมนาวิชาการ “SEC Capital Market Symposium 2020” สนับสนุนการใช้ Big Data ต่อยอดงานวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมในตลาดทุน นำไปสู่การดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพตลาดทุนไทย สู่ความยั่งยืน เผยผลวิจัยพฤติกรรมผู้ลงทุนแต่ละเจนเนอเรชั่นโดยใช้ Big Data พบจำนวนผู้ลงทุนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมการลงทุนเริ่มเปลี่ยนไป
ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดสัมมนาวิชาการ “SEC Capital Market Symposium 2020” ที่ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนในตลาดทุน รวมทั้งภาควิชาการ กว่า 300 คน
ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “งานวิจัย” เป็นกระบวนการสร้างความรู้ใหม่ ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทย สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนและความผันผวนที่เพิ่มขึ้นมากในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการมีข้อมูลและงานวิจัยประกอบการตัดสินใจจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. ในด้านการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน เป็นไปอย่างแม่นยำตรงเป้าหมายและเกิดประสิทธิผลตามที่คาดหวังไว้
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงนโยบาย และจัดสัมมนาวิชาการ SEC Capital Market Symposium อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ของข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) ที่มีอยู่ในตลาดทุนมาต่อยอดเป็นงานวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมในตลาดทุน ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพและเสริมศักยภาพตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนในแต่ละเจนเนอเรชั่นสามารถใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งลงทุน ขณะที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้
การสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist และ Managing Director บริษัท Sea Limited ปาฐกถาพิเศษผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง “เศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ในวันที่โลกหมุนเร็วขึ้น” และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ระเบียบโลกใหม่: มองโอกาสและความท้าทายของธุรกิจโลกในปี 2021
ดร.สันติธาร กล่าวว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้หลายเทรนด์สำคัญของโลกมาถึงเร็วขึ้นสร้างทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศไทยในหลายมิติ ในภาวะปกติใหม่นี้ ตลาดทุนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ประการ (SEC-R) คือ การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ความเท่าเทียมทางโอกาส (Equality) ความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) และภูมิคุ้มกัน (Resilience)
ดร.สันติธาร กล่าวว่า ในอนาคต ตลาดทุน จะพบกับความท้าทายจาก 1. เศรษฐกิจผันผวน ดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง 2. สังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้ต้องลงทุนระยะยาว และ 3. เทคโนโลยีจะเปลี่ยนตลาดทุน โดยธุรกิจที่เข้มแข็งจะต้องเป็นธุรกิจที่เชื่อมโลก (Connectivity) ธุรกิจที่ทันขบวน Tech (Tech Transformation) และธุรกิจที่ยั่งยืน (ESG) โดยควรใช้ COVID-19เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง และเมื่อธุรกิจเข้มแข็งจะส่งผลให้ตลาดทุนเข้มแข็งไปด้วย
ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต. ยังเปิดเผยผลงานวิจัยพฤติกรรมผู้ลงทุนแต่ละเจนเนอเรชั่นโดยใช้ Big Data ซึ่งแสดงให้เห็นฐานผู้ลงทุนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้น พฤติกรรมการลงทุนที่เริ่มเปลี่ยนไป และอุตสาหกรรมต้องเตรียมตัวรองรับผู้ลงทุนที่เกษียณอายุมากขึ้น พร้อมทั้งต้องมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่รองรับผู้ลงทุนรายเจนเนอเรชั่น รวมทั้ง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการมาร่วมนำเสนองานวิจัยเชิงนโยบายตลาดทุน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและเหตุผลของผู้ลงทุน รวมถึงผลกระทบต่อมูลค่ากิจการของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือESGการลงทุนโดยใช้เทคนิค Factor investing นอกจากนี้มีเสวนาเรื่อง“สร้างคุณค่างานวิจัย เสริมศักยภาพตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน”ที่ผู้ร่วมเสวนาชี้ให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจใหม่ๆในตลาดทุน ที่จะเกิดขึ้นจากการต่อยอดงานวิจัยและใช้เทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนด้วย