xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ญี่ปุ่น ลุยโปรเจค“สมาร์ท โมโนซึคุริ”ทรานส์ฟอร์มภาคการผลิต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) พัฒนาอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ผ่านโครงการ "สมาร์ทโมโนซึคุริ" (Smart Monozukuri) นำระบบ IoT เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ฝึกทักษะสร้างผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อขยายผลในปี 2564 ไปยังผู้ประกอบการที่สนใจ พัฒนาขีดความสามารถในภาคการผลิต เน้นทักษะการปรับใช้เทคโนโลยี โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ภายใต้เป้าหมายสำคัญสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต จึงร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเชื่อมโยง โดยใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Thing) หรือ IoT 

ทั้งนี้ประเทศไทยและญี่ปุ่น ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพเฉพาะทาง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จึงมีโครงการจัดตั้งทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะของประเทศไทย หรือ “สมาร์ท โมโนซึคุริ” เพื่อสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต และได้จัดสัมมนาเผยแพร่ผลลัพธ์ โครงการ “สมาร์ท โมโนซึคุริ” ประจำปี 2563 ในงาน Metalex 2020 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน 2563 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


โครงการดังกล่าว ดำเนินการฝึกอบรมบุคคลากรโดย AOTS และ JTECS ซึ่งใช้วิธีการไคเซน (Kaizen) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันผ่านการใช้เครื่องมือIoT ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการเดินทางไปฝึกอบรบที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินงานในปีนี้ จึงมีรูปแบบการฝึกอบรบผ่านระบบ virtual มีการเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบ ที่ได้นำระบบ IoT มาปรับใช้ในภาคการผลิต

โดยแบ่งผู้เชี่ยวชาญเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก หรือ Master Instructor เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการSMEs รายอื่นได้ โดยอบรมในเดือน และกลุ่มสอง หรือ Instructor คือ ผู้เชี่ยวชาญที่เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยIoTs ในขั้นต้น โดยโครงการนี้จัดขึ้นระหว่าง เมษายน 2563 - มีนาคม 2564


นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการสำคัญของ สมาร์ท โมโนซึคุริ หรือ Smart Manufacturing คือ การฝึกบุคลากรให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาเพื่อทำการปรับปรุงและมองหาโอกาสการพัฒนากระบวนการผลิตในโรงงานด้วย IoT เช่น การควบคุมสถานะกระบวนการผลิตผ่านคอมพิวเตอร์จิ๋ว Raspberry Pi (ราสเบอร์รี่ พาย) และจอแสดงผลที่เชื่อมกับ สัญญาณไวไฟ (wifi) ซึ่งเป็นการลงทุนไม่ได้สูงมาก แต่สามารถช่วยให้ควบคุมการผลิตได้ตลอดเวลา หรือ real time ทำให้ฝ่ายผลิตเห็นภาพข้อมูลและมีการแจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหาในสายการผลิตผ่านไปยังไลน์กลุ่มในสมาร์ทโฟนได้


อธิบดี กสอ. บอกว่า การนำระบบ IoT เข้ามาใช้ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมในเบื้องต้น ไม่ใช่การลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่สิ่งสำคัญของการนำ IoT (ไอโอที) มาใช้ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นคือการที่บุคลากรสามารถวิเคราะห์ประเด็นปัญหาในโรงงานได้อย่างตรงจุดและเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมในการพัฒนากระบวนงาน สร้างบุคลากร 4.0 เพื่อเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนองคาพยพไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2564




กำลังโหลดความคิดเห็น