xs
xsm
sm
md
lg

พณ.ปลื้ม คนแห่ฟังสัมมนาพัฒนาสินค้าท้องถิ่นคึกคัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพาณิชย์ พอใจเสียงตอบรับสัมมนาพัฒนาสินค้าท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม คึกคัก หวังช่วย ผู้ประกอบการไท ยเรียนรู้เทคนิคสร้างภาพลักษณ์สินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และจัดแสดงสินค้าโดนใจผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อขยายโอกาสโกอินเตอร์สู่ตลาดต่างประเทศตามนโยบาย“ตลาดนำการผลิต”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก ได้แก่ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย(เจโทร กรุงเทพฯ) หอการค้าไทย และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดโครงการ“การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดสากล”(Local Products & Shop Development to GLOBAL)ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรม Coco Viewจังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 80 ราย พร้อมกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้คำปรึกษาเชิงลึกสำหรับบริษัทที่ได้รับคัดเลือกรวม 30 บริษัท โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ มุ่งเน้นพัฒนาและส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ในการสร้างภาพลักษณ์สินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการจัดแสดงสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปีนี้ เรามุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถพัฒนานำเอาอัตลักษณ์สินค้าในท้องถิ่น ให้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการผลักดันสินค้าและบริการของผู้ประกอบการท้องถิ่นไทย ให้สามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

นายสมเด็จ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์“ตลาดนำการผลิต” เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งให้ความสำคัญในการศึกษาตลาด พฤติกรรม และรสนิยมของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาสินค้าไทยให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์หรือความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงนำมาสู่การสัมมนาในครั้งนี้ที่มุ่งเน้นตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย โดยในปี 2562 การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่น มีมูลค่ากว่า  760,000 ล้านบาท และการส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ปี 2563 มีมูลค่า 517,000 ล้านบาท

ด้านนายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงคราม มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศอยู่ที่ประมาณ 416.7 ตารางกิโลเมตร และเป็นเมืองเกษตรกรรมและการประมง สำหรับด้านอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ได้แก่ การผลิตน้ำปลา อาหาร การแปรรูปสัตว์น้ำ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาชีพการประมงในกลุ่มเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวสมุทรสงครามได้สูงสุดในจังหวัด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและมีชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทยยาวประมาณ23 กิโลเมตร ประกอบกับเป็นดินดอนปากแม่น้ำ รองลงมาก็คือ กสิกรรม และการแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่าย

อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความหลากหลาย กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดสมุทรสงครามของเรา ที่จะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างแบรนด์ และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ


นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยฯ มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันสิ่งดีดีผลักดันสินค้าไทย ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อน Happy Model (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดีดี) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการเพิ่มมูลค่าสร้างความเป็น Uniqueไม่เหมือนใคร ควบคู่กับคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว พร้อมขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต”

นายกลินท์ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดเป้าหมายในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะใกล้กรุงเทพ ที่สำคัญเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ติดทะเล มีพื้นที่สวนเกษตรท้องถิ่น ส่งผลให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปด้วย ได้แก่ ผลิตภัณ์จากทะเล ผลไม้ อาหารการกิน ทั้งสดและแปรรูป เป็นจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเรื่อยมา ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมานั้น จึงเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง นอกจากการจัดกิจกรรมในจังหวัดสมุทรสงครามแล้วยังจะต่อยอดไปในจังหวัดเชียงราย เมืองแห่งศิลปะและเป็นเมืองชายแดนที่มีความคึกคักด้านการค้าขายข้ามพรมแดนช่วงในเดือนมกราคม 2564 ด้วย


ด้านนายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ)กล่าวว่า การบรรยายพิเศษในวันนี้ มีวิทยากร บริษัท เจทีบี ประเทศไทย จำกัด (JTB Thailand) มาบรรยายเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกรณีศึกษาของเมืองชิเรโทโกะ (Shiretoko) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดฮอกไกโด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2548 และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำในจังหวัดฮอกไกโด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ชิเรโทโกะ ได้เผยแพร่ข้อมูลด้วยภาพลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวในท้องถิ่น ซึ่งการริเริ่มนี้ ได้รับความสนใจและจับตามองจากทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น จึงเชื่อว่า กรณีศึกษานี้จะเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค

ขณะเดียวกัน นายอัทสึชิ ยังแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปีนี้ เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก โรคระบาดโควิด-19 ทั้งญี่ปุ่นและไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่ “ความปกติรูปแบบใหม่” (New Normal) ในญี่ปุ่นจำนวนคนที่ทำงานจากบ้าน (Work from Home) เพิ่มมากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเช่นกัน ปัจจุบันการไปมาหาสู่ระหว่างไทยและญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่า คนไทย อยากไปญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่น ก็อยากมาเมืองไทยเช่นกัน จึงคาดหวังว่า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจในอนาคต รวมถึง ติดอาวุธใหม่ๆ เช่น ดิจิทัล เพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจ สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย อีกครั้งในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น