สภาพัฒน์รายงานจีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ ติดลบ 6.4 % ดีขึ้นจากไตรมาส 2 พร้อมปรับเป้าจีดีพีไทยทั้งปีนี้ เหลือติดลบ 6% จากเดิมคาดว่า จะติดลบ 7.8 ถึง ลบ7.3%
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 3 ปี 2563 ติดลบ 6.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12.1% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนปีนี้ จีดีพีไทย ติดลบ 6.7%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากดัชนีชี้วัดหลายด้านฟื้นตัวจากโควิด-19 มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ กลับมาได้แล้ว 100% ยกเว้นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เต็มรูปแบบ, การส่งออก, การลงทุนภาครัฐ, การลงทุนภาคเอกชน, การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่อง สภาพัฒน์ จึงปรับประมาณการณ์จีดีพีไทยทั้งปี 2563 ติดลบน้อยลง เหลือลบ 6% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบสูงถึงลบ 7.8 ถึงลบ 7.3%
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ปรับเป้าส่งออกไทยทั้งปีนี้ ติดลบน้อยลงเช่นกัน เหลือ ลบ7.5% จากเดิมคาดไว้ที่ ลบ 10.2% ก่อนจะพลิกกลับเป็นบวกในปี 2564 โต 4.2%
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องจับตา คือ การระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ในต่างประเทศที่ส่งผลให้มีการปิดเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย รวมทั้งความเสี่ยงในเรื่องประสิทธิภาพและการขนส่งวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนใช้ทั่วโลกในช่วงไตรมาส 3/2564
อัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น, สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ, หนี้ครัวเรือน ,คุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
สภาพัฒน์ เสนอแนวทางบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ถึงปี 2564 คือ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ,เร่งรัดการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ, การส่งเสริมการลงทุนในประเทศโดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยรักษาบรรยากาศการลงทุนในประเทศ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน การเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าหากการแพร่ระบาด ยาวนานออกไป รวมถึงเริ่มปรับโครงสร้างผลิตในประเทศ และดูแลเรื่องภัยแล้งที่อาจกระทบกับผลผลิตและกำลังซื้อในภาคเกษตร