xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” เดินหน้าตั้ง กก.สมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชวน” พร้อมเดินหน้าตั้งกรรมการสมานฉันท์ควบคู่เทียบเชิญบุคคล หวั่นเสียเวลา

วันนี้ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของรัฐบาลมีฝ่ายกฎหมายพิจารณาและดำเนินการ หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายการปฏิรูปประเทศที่จะต้องประชุมร่วมรัฐสภา และได้ตรวจสอบตามคำคัดค้านว่าไม่ได้ทำประชาพิจารณ์นั้น พบว่าตามรายงานมีการทำเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายเมื่อรัฐบาลเสนอให้พิจารณาร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งในฐานะประธานรัฐสภาก็จะวินิจฉัยว่าเข้าตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามข้อห่วงกังวลของฝ่ายค้านจะมีการหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้

ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายปฏิรูปหรือไม่นั้น การยื่นศาลมีหลายช่องทาง โดยสมาชิกอาจเข้าชื่อกันและยื่นต่อศาลเองได้เลย และบางเรื่องต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งขอย้ำว่าแต่ละเรื่องต้องพิจารณาตามข้อกฎหมาย

สำหรับรายชื่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนหรือร่างของไอลอว์ วันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ จะเป็นวันสุดท้ายของการคัดค้านการเสนอร่างกฎหมาย โดยจะมีการสรุปรายชื่อจากรายชื่อกว่า 100,000 คน ที่มีกว่า 400 คน แจ้งว่าไม่ได้ลงชื่อ อย่างไรก็ตาม มีรายชื่อครบตามจำนวนของกฎหมายที่กำหนดการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมายดังกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ไม่สามารถที่จะรอให้ครบได้ และเมื่อวานนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอโครงสร้างมา 2 แบบ โครงสร้างแรก ให้มาจากฝ่ายการเมือง 7 กลุ่ม แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาให้ครบทั้ง 7 คนในเวลานี้ เดิมคาดว่าจะรอเพื่อหาทางเจรจา แต่จะเสียเวลาและไม่แน่นอน จึงเห็นว่าหากตกลงได้กี่กลุ่มก็ดำเนินการไปพลางก่อน ซึ่งหลังจากนี้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อเชิญแต่ละฝ่ายเข้ามาหารือ

ส่วนอีกกลุ่มที่นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เสนอชื่อบุคคลเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประนีประนอม ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอมาเช่นกัน แต่ยังมีเวลาที่จะหารือพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์และเคยดำเนินการมาแล้ว โดยได้หารือกับนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไปแล้ว ในประเด็นที่ว่าเหตุใดสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแต่ไม่เกิดผล ซึ่งอาจจะหาผู้ที่มีความรอบรู้ทางทฤษฎี และนำผู้ที่มีความรู้ในทางปฎิบัติมาร่วมกัน

ทั้งนี้ ในการทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่พำนักอยู่ในประเทศไทยหมดแล้ว เว้นแต่นายสุจินดา คราประยูร และวันหยุดที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยกับคนที่เคยทำงานด้านนี้มา โดยเห็นว่าเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ดำเนินการ

ขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาว ต้องยอมรับว่าความเห็นแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีตลอดไป แต่กรณีที่ประชาชนขัดแย้งกันเองนั้น เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองย้อนกลับไปจะเห็นว่าบางช่วงมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำจากฝ่ายการเมืองเองเป็นผู้ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก ในทำนองที่ว่าบางคนไม่สามารถเดินทางเข้าจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งได้ ซึ่งขอย้ำว่าจะต้องศึกษาแนวทางจากปัญหาในอดีตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น