xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม”ชี้KTB สนองนโยบายรัฐได้ แม้พ้นสภาพ รสก.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีคลัง ระบุ แม้ธนาคารกรุงไทย( KTB) จะพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจ ตามการตีความของกฤษฎีกา แต่ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายและโครงการของรัฐบาลได้เหมือนเดิม ทั้ง”บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”, “เราเที่ยวด้วยกัน” , “คนละครึ่ง” , “ช้อปดีมีคืน” รวมทั้งการเปิดบัญชีของหน่วยงานรัฐ ที่เชื่อมโยงกับกรมบัญชีกลาง / ยังทำธุรกรรมกับธนาคารกรุงไทยได้ต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาสถานะที่ชัดเจนของธนาคารกรุงไทย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงไทย ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย

โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่มีลักษณะ เป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561


นายอาคม กล่าวว่า แม้ธนาคารกรุงไทย จะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ ครม ต้องมีมติที่ชัดเจนว่า ธนาคารกรุงไทย ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังนับเป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะมีการถือหุ้นโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท. จึงต้องเสนอให้ธนาคารกรุงไทย มีหน้าที่เป็นหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิม

นอกจากนี้ แม้ธนาคารกรุงไทย จะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ก็ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายและโครงการของรัฐได้เหมือนเดิม ทั้งโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ , “คนละครึ่ง” , “เราเที่ยวด้วยกัน” , “ช้อปดีมีคืน” รวมทั้งการเปิดบัญชีของหน่วยงานรัฐที่เชื่อมโยงกับกรมบัญชีกลาง ก็ยังดำเนินการได้เหมือนเดิม

ในส่วนของสวัสดิการพนักงานกรุงไทย นายอาคม กล่าวว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องไปพิจารณาก่อนว่ามีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงในประเด็นใดบ้าง

ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับกรณีนี้ โดยระบุว่า การเปลี่ยนสถานภาพของธนาคาร อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย ,ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ

เบื้องต้น ธนาคารได้ศึกษาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร ได้ข้อยุติว่า ผลของความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ส่งผลให้ กรรมการ, ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518

ส่วนผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่นๆธนาคาร จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน

ด้าน นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ในฐานะที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธนาคารกรุงไทย ก็เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ สคร.ดูแล แต่ขณะนี้เมื่อกรุงไทยได้พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว เบื้องต้น ทราบว่า กรมบัญชีกลาง จะออกระเบียบใหม่ เพื่อให้หน่วยงานราชการ ยังสามารถทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารกรุงไทยได้ต่อไป โดยไม่ผิดระเบียบแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น