xs
xsm
sm
md
lg

ทช.ต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.นนทบุรี1–กาญจนาภิเษก แก้จราจรติดขัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงชนบท เตรียมดำเนินโครงการต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 –ถนนกาญจนาภิเษก จังหวัดนนทบุรี เสริมประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง เพิ่มเติมโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างถนนกาญจนาภิเษกกับถนนราชพฤกษ์ แก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น พัฒนาพื้นที่สองข้างทางให้มีความเจริญมากขึ้น สอดรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ชี้แจงว่า ปัจจุบันสภาพการจราจรในโครงข่ายถนนในพื้นที่จากฝั่งตะวันตกด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร มีสภาพที่หนาแน่น ทั้งบนเส้นทางของถนนนครอินทร์ในทิศทางขาเข้าตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 5 รวมถึงทางขึ้น – ลง และจุดตัดทางแยกต่างๆบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีสาเหตุจากปริมาณรถส่วนหนึ่งต้องเดินทางผ่านถนนสายหลักเดิมในพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องด้วยถนนสายหลักเดิมเหล่านั้นมีปริมาณจราจรเกินกว่าที่ถนนจะรองรับได้ ส่งผลให้การจราจรติดขัดต่อเนื่องและสะสมเป็นบริเวณกว้าง

ประกอบกับการที่ ทช.ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์)แล้วเสร็จ ประชาชนจึงได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การก่อสร้างโครงการถนนเชื่อมต่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถนนนนทบุรี 1 มายังถนนกาญจนาภิเษก จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่โครงข่ายคมนาคม สามารถใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางระหว่างด้านตะวันตก – ตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงกับถนนสายหลักที่สำคัญในแนวเหนือ – ใต้ได้ด้วย


ลักษณะของโครงการเป็นถนนก่อสร้างใหม่ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนเชื่อมต่อสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (บริเวณทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์) วางตัวมาทางทิศตะวันตก ข้ามถนนบางกรวย – ไทรน้อย ผ่านพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่โล่งข้ามคลองบางกอกน้อย จนบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงหมายเลข 9) ระยะทางรวมโดยประมาณ 3.827 กิโลเมต


รูปแบบของโครงการเป็นถนนที่มีผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 6 – 8 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร พร้อมทางเท้าทั้งสองข้างกว้างข้างละ 3.75 เมตร มีเขตทางโดยประมาณ40 เมตร แบ่งทิศทางการจราจร ไป-กลับ มีสะพานยกระดับ (Overpass) ข้ามจุดตัดกับถนนบางกรวย – ไทรน้อยสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย และทางแยกต่างระดับ (Interchange) บริเวณจุดตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ ทั้งนี้โครงการกำหนดให้ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดอยู่ใต้ดิน


ปัจจุบัน ทช.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์และประมาณราคาเพื่อกำหนดเป็นค่าทดแทนในการเวนคืน คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,396 ล้านบาท เพื่อนำที่ดินมาดำเนินการก่อสร้างทางหลวงชนบทต่อไป โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นเวลาทั้งสิ้น 270 วัน การดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะใช้ระยะเวลา 1 ปีงบประมาณ และการดำเนินงานก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น