รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ” ซึ่งอาจารย์ไม่เพียงเป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิตที่ชีวิตเคยติดลบถึงขนาดเป็นขอทานและอยู่ในวังวนสิ่งเสพติด แต่เมื่อประสบความสำเร็จ อาจารย์ยังช่วยเหลือเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่ใฝ่ดี ได้มีโอกาสพบความสำเร็จและเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไปเช่นกัน
ทุกคนล้วนต้องเคยผ่านความลำบากในชีวิต มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ว่า แต่ละคนจะสามารถฝ่าฟันผ่านพ้นความลำบากไปได้หรือไม่ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เป็นหนึ่งในผู้ที่ชีวิตผ่านความยากลำบากมามากมายนับไม่ถ้วนตั้งแต่วัยเด็ก ใครจะคิดว่า จากเด็กที่ต้องผจญกับความยากจน ถึงขั้นเป็นขอทาน เก็บเศษอาหารกิน จะสามารถเอาชนะความลำบากได้ด้วยความมานะพยายาม ใฝ่ดี และใฝ่เรียน จนประสบความสำเร็จเรียนจบปริญญาเอก จากประเทศญี่ปุ่นได้ และปัจจุบันอาจารย์เป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี
ชีวิตวัยเด็ก เมื่อพ่อ-แม่แยกทางกัน ส่งผลให้แม่ต้องไปหางานทำ ลูกๆ 4 คนต้องใช้ชีวิตตามลำพัง ทำให้ ด.ช.กุลชาติ ในวันนั้น ต้องกลายเป็นขอทานในที่สุด
“แม่จะส่งเงินมาให้เดือนละ 500 เพื่อให้พี่ดูแลน้องๆ ค่าขนม ค่าเช่าบ้าน ตอนนั้นพี่ผมก็ ม.ต้นแล้ว ม.3 ม.2 ม.1 ส่วนผมเพิ่งอยู่แค่ ป.3 ป.2 ประมาณนี้ มันก็ไม่พอใช้ พี่ก็ออกจากบ้านไปก่อน เอาเงินตรงนี้ มีพี่อีกคนหนึ่งบอกว่าดูแลน้องที่เหลือด้วย เหมือนพี่คนโตเขาไปก่อน แล้วคนต่อมาก็ไป สุดท้ายก็เหลือผมกับพี่อีกคนหนึ่งแค่ 2 คน ซึ่งตอนแรกพี่คนนี้เขาก็ดูแลดีทุกอย่าง ดูแลเหมือนพ่อแม่ตามใจผมทุกอย่าง ไม่อยากให้ผมมีปมด้อยนะ สุดท้ายผมใช้เงินจนหมด ก่อนจะสิ้นเดือนที่แม่ให้มา มันไม่มีเงินแม้กระทั่งซื้อข้าวกิน พี่ผมก็ต้องพาผมไปเก็บผักบุ้งข้างทางมาต้มกับน้ำเปล่ากิน ประทังความหิว พี่ผมเลยพาผมไปขอข้าวเขากิน”
“จากจุดนั้นทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า เราสามารถขอข้าวจากคนอื่นได้ ผมเลยเริ่มไปขอข้าวกินเอง โดยไม่ต้องมาพึ่งพาพี่แล้ว เพราะคิดว่าเดี๋ยวพี่จะพาเราไปเก็บผักกินอีก ผมก็อาศัยว่า ขอข้าวเขากินไปเรื่อยๆ พอเขาไม่ให้ ผมก็ขอตังค์ ก็กลายเป็นเด็กขอทานไปในตัว ความหิวมันทำให้เราต้องทำได้ทุกอย่าง ขอทานก็ต้องทำ ขอเขากินก็ต้องทำ เก็บเศษอาหารกินก็ต้องทำ”
วัยเด็กไม่สนใจเรื่องเรียน จึงตกอยู่ในวังวนสิ่งเสพติด!!
“เรื่องเรียนนี่ผมแค่ไปนั่งอยู่หลังห้อง ชวนเพื่อนคุย ชวนเพื่อนเล่น ทำตัวไม่ตั้งใจเรียน คุณครูก็ตี เลยกลายเป็นว่า ไปโรงเรียนแล้วครูตี ไปทำไม ก็โดดเรียน โดดเรียนกับเพื่อน เริ่มไปแฝงตัวอยู่ในร้านเกม จะมีเจอโต๊ะบอล โต๊ะพนัน โต๊ะม้า เล่นพนันกัน มองเห็นว่าเราใช้ง่าย เริ่มให้เราไปใช้ส่งสิ่งเสพติดบ้าง สิ่งผิดกฎหมายบ้าง ผมก็ไปอยู่วังวนตรงนั้นอยู่พักหนึ่ง จนเพื่อนผมโดนจับ ผมกลัวตำรวจจับ เลยไปแอบอยู่ในวัด ไปขอข้าวพระกิน”
โชคดีเรื่องรู้ถึงหูแม่ เพราะมีคนมาเจอ ด.ช.กุลชาติ จึงไปบอกแม่ ว่าลูกของแม่เป็นเด็กเหลือขอ เด็กขอทาน
“แม่ผมตกใจ ถึงได้ลาออกจากงานที่ต่างจังหวัด กลับมา และมาอยู่กับผมเลย แต่งานที่แม่ทำ กลับมาแม่เริ่มต้นจากอาชีพรับจ้างทุกอย่าง แต่เป็นงานที่รับจ้างที่ พองานหมด ก็ต้องไปหางานอื่นทำ พอลองค้าขาย ก็ขาดทุน แม่ผมก็เลยไปเริ่มต้นอาชีพเก็บขยะ ก็เป็นอาชีพที่หาเช้ากินค่ำจริงๆ”
อยากชกหน้าคนดูถูก แต่แม่ช่วยดึงสติ!!
“มีคนพูดดูถูก มึงจะไปเรียนหนังสือทำไม แม่มึงเลี้ยงลูกไม่ได้ดีสักคน ดูสิ หนีตามชาวบ้านไปหมดแล้ว เอ็งก็เหลือขอ ขอทาน แม่มึงกระจอก เก็บขยะ ตอนนั้นผมรู้สึกโมโหมาก กำหมัดอยากไปชกหน้าเลย แต่แม่ผมก็คว้ามือไว้ บอก ถ้าลูกทำร้ายเขา ลูกก็ไม่ต่างจากที่เขาว่าลูก ลูกก็เป็นอันธพาลเหมือนที่เขาว่า เป็นโจรเหมือนที่เขาว่า อดทนไว้ ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ลูกตั้งใจเรียนก็พอแล้ว แล้ววันหนึ่งที่ลูกเรียนสำเร็จได้ ความสำเร็จ การศึกษาของลูก จะเป็นการตอกกลับเขาไปเอง”
คำพูดของแม่เริ่มจุดประกายให้ ด.ช.กุลชาติ อยากเรียน ขณะที่การได้มีโอกาสฝึกงาน ก็ทำให้อยากเป็นช่าง
“ระหว่างปิดเทอม พอดีข้างบ้านเขาทำประตูหน้าต่างเหล็กดัด ผมก็ไปเป็นเด็กฝึกงาน เขาก็ให้ผมเคาะเหล็ก ทาสี แต่ผมเห็นคนที่เขาอ๊อกเหล็กเป็น เป็นช่าง ได้วันละ 120 แต่ผมเป็นเด็กฝึกงานได้วันละ 20 บาท ทำไมผมได้น้อยจัง ผมก็ถามช่างว่า พี่ สอนผมหน่อยสิ ผมอยากเป็น เขาบอก ข้าไม่มีเวลาสอนเอ็งหรอก เอ็งอยากรู้อะไรก็ดูเอาละกัน อยากรู้ ไปเรียนเอา นั่นเป็นจุดเริ่มว่า ผมคงต้องไปตั้งใจเรียนแล้ว เพื่อจะได้มาทำอาชีพนี้”
หลังเรียนจบ ม.3 ก็ยังไม่ได้ไปทำงานเป็นช่าง เพราะครูแนะนำให้เรียนต่อ ปวช. เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น จะได้ทำงานเงินเดือนสูงๆ
“ผมก็เลยไปลองสอบ ปวช.ดู ก็สอบติด พอดีสาขาผมไม่มีใครเรียนด้วย ส่วนใหญ่ในยุคผม คนจะไปเรียนไฟฟ้า ก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างคอมฯ อิเล็กฯ ผมไปเรียนช่างเชื่อม ไม่มีใครอยากเรียน ก็จบช่างเชื่อม และในระหว่างที่เรียน ปวช.เราจะฝึกเป็นช่างเชื่อม ก็ถามครูว่า ถ้าจบช่างเชื่อม ไปทำอะไรได้บ้าง ครูบอกความฝันใหญ่โตมาก คุณก็ไปเชื่อมท่อน้ำมันที่ซาอุฯ ตอนนั้นเงินดีมาก ไปทีเดือนเป็นแสน เราก็อยากให้แม่เราสุขสบาย เชื่อมท่อน้ำมันทำยังไง ผมก็ต้องฝึกเชื่อมท่อ เชื่อมให้เก่ง ฝึกๆๆ จนครูให้ผมเป็นตัวแทนไปแข่งทักษะ ผมก็ได้ที่ 1 นะ ระดับจังหวัด”
สุดท้าย นายกุลชาติก็ไม่ได้ไปทำงานที่ซาอุฯ ตามฝันที่อยากไป เพราะไม่รู้จะไปสมัครงานที่ไหนเพื่อให้ได้ไป และครูได้ยุให้เขาเรียน ปวส.ต่อ เพราะใช้เวลาแค่ 2 ปี เขาจึงไปเรียน ปวส.ที่สงขลา เพราะที่สงขลามีบริษัทขุดเจาะน้ำมัน
หลังจบ ปวส.เขาได้เรียนต่อปริญญาตรีและทำงานที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี แต่เมื่อรายได้ยังไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจขอทุนจากต้นสังกัดเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น
กราบเท้าแม่ ในวันแห่งความสำเร็จ รับปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น
“ผมเห็นแม่ผมยืนอยู่ตรงประตู เหมือนแม่ผมรออยู่นานแล้ว ผมเลยวิ่งไปคุกเข่าต่อหน้าแม่ ตรงนั้นจะเป็นพื้นพรมทางเท้า และพูดกับแม่ว่า ถ้าไม่มีแม่คนนี้ที่เฆี่ยนตีให้ลูกคนนี้กลับมาเป็นคนดี ถ้าไม่มีแม่คนนี้ที่เก็บขยะส่งให้ลูกได้เรียนหนังสือ ถ้าไม่มีแม่คนนี้ที่มีคำพูดคำสอนดีๆ ให้ลูกตั้งใจเรียน ลูกก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนจนถึงปริญญาเอก เพราะฉะนั้นใบปริญญาเอกใบนี้ ผมขอมอบให้กับแม่ แล้วผมก็ก้มลงกราบเท้าท่าน”
ขอบคุณเพื่อนทุกคนและครูทุกท่านที่ให้โอกาสได้มีวันนี้ ขอทำหน้าที่ส่งต่อโอกาสให้เด็กๆ รุ่นต่อไปได้พบความสำเร็จบ้าง
“ผมก็กลับมาหาเพื่อนคนที่ผมดูเป็นแบบอย่างในการตั้งใจเรียน แต่ก็ยังหาไม่เจอ มองหาครูทุกคนที่ให้โอกาสผมได้เรียนหนังสือ ผมกลับมาในปีนั้น ปีที่เขาเกษียณพอดี แล้วผมก็ไปวันเกษียณเขา และบอกครู ครูจำผมได้ไหมครับ เขาก็งงๆ ผมคือเด็กที่ครูเคยให้โอกาสผม ผมกุลชาติ ผมบอกว่า วันนี้ผมโชคดีมากที่ผมมาทันวันเกษียณของครู อาจารย์ครับ ตอนนี้ผมเรียนจบปริญญาเอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว แล้วผมก็กลับมาเป็นอาจารย์ ผมจะรับหน้าที่นี้ต่อจากอาจารย์เอง อาจารย์เกษียณอย่างมีความสุขนะครับ อาจารย์ไม่ต้องห่วง ผมจะทำหน้าที่ต่อจากอาจารย์เอง”
ปัจจุบัน ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อาจารย์ไม่เพียงสอนที่นี่มานานนับสิบปีแล้ว แต่อาจารย์ยังมีโครงการ “เด็กใฝ่ดี” เพื่อช่วยให้เด็กๆ เป็นคนดีและเป็นที่พึ่งของสังคม
“ผมตั้งนิยามเด็กกลุ่มที่ผมจะช่วยเหลือว่า เด็กใฝ่ดี คือเด็กที่อยากได้ดี ไม่ใช่เด็กที่ยากจน ไม่ใช่เด็กที่กำพร้า ไม่ใช่เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างเดียว คือทั้งหมดเลย เช่น เด็กที่มีครอบครัวดี แต่วันหนึ่งเผลอทำตัวแย่ และอยากจะกลับมา แต่ทางครอบครัวอาจจะไม่สนใจแล้ว หาทางเอาเองนะ ผมจะเข้าไปประคองเขากลับมา ขอให้เขามีความคิดใฝ่ดีว่า อยากกลับมาเป็นคนดี หรือคนที่ทำผิด เคยทำผิดพลาด แล้วสังคมไม่ให้อภัยเขา สังคมตีตราเขาไปแล้วว่าเป็นเด็กเลว แต่เรามองแล้ว เขามีความพยายามที่อยากเป็นคนดี ผมก็ยินดีเลยว่า นี่คือเด็กกลุ่มที่ผมจะเข้าไปช่วยให้เขากลับเป็นคนดี หรือเด็กที่มีความพร้อมทุกอย่าง แต่ขาดแรงบันดาลใจ เด็กที่ไม่ได้อยากได้ดีหรือมีเป้าหมายอะไรในชีวิต แต่ดูแล้วเขายังมีคุณค่า ยังมีความหมายกับครอบครัวเขา ยังมีความหมายต่อคนรอบข้าง เราก็อยากทำยังไงให้เขากลับมาเป็นคนดีเป็นที่พึ่งของสังคมได้”
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “กุลชาติ...ดร.ผู้ส่งต่อโอกาส”
https://www.youtube.com/watch?v=I-UgLHR04RU&t=483s
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos