xs
xsm
sm
md
lg

SCBS CIO คาดเฟดใช้เวทีFOMCลดความผันผวนจากการเลือกตั้งสหรัฐ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCBS CIO มอง เฟด จะสื่อสารผ่านการประชุมนโยบายการเงิน เพื่อลดความผันผวนจากการเลือกตั้งสหรัฐ แนะลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ เพิ่มการลงทุนในหุ้น ประเมินผลเลือกตั้ง และทิศทางนโยบายการเงิน เป็นบวกกับการลงทุนในกลุ่ม Emerging Markets ,กลุ่มวัฏจักร และกลุ่มมูลค่า มากที่สุด


ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS CIO) คาดว่า จะมีความผันผวนตกค้าง มาจากการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐ ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร แต่หลังการเลือกตั้ง มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) รออยู่ (4-5 พ.ย. , 15-16 ธ.ค.63) ซึ่งในภาพรวม เชื่อว่า เฟดจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% แต่มอง “การสื่อสาร”จะเป็นลักษณะสวนทางกับความเสี่ยงหลัก แบ่งเป็นสองกรณี

(1) ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ “ปรับตัวลง” (โอกาสเกิดขึ้น 60%) เชื่อว่า เฟด จะสื่อสารในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น และอาจมีการพูดถึงนโยบายการเงินที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดความผันผวน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เช่น Negative Interest Rate หรือ Yield Curve Control

(2) ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ “ปรับตัวขึ้น” หลังเลือกตั้ง (โอกาสเกิดขึ้น 40%) เชื่อว่าเฟดจะลดการสื่อสารในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินลง และหันไปสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังในปี 2021 ทันที

มุมมองตลาดการเงินและทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าว จะส่งผลต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดการเงินดังนี้

ดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ – ดร.จิติพล เชื่อว่า มุมมองดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลง และคาดว่ายีลด์สหรัฐจะไม่ผันผวนแรง เพราะปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% มองยีลด์อายุ 2ปีจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.20% ซึ่งยังต่ำกว่าขอบบนของดอกเบี้ยนโยบายอยู่ แต่ยีลด์สหรัฐระยะยาวมีโอกาสปรับตัวลงได้ จากความผันผวนโดยรวมของตลาดที่สูงขึ้น โดยประเมินยีลด์ 10ปีที่ระดับ 0.75% ในช่วงสิ้นปี

เงินดอลลาร์ – มองว่านโยบายการเงินไม่มีผลกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ขณะที่ในอนาคตเชื่อว่าดัชนีดอลลาร์จะถูกขับเคลื่อนจากทิศทางนโยบายการคลังและมุมมองความเสี่ยง (Risk on หรือ risk off) ของนักลงทุนในตลาด คาดว่าทั้งสองเรื่องจะมีความชัดเจนหลังจากทราบผลการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐ จึงคงมุมมองกรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ที่ระดับ 90-95จุดในช่วงที่เหลือของไตรมาสที่สี่ แต่คาดว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแต่คงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำของธนาคารกลางสหรัฐ จะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้อีกราว 7-15% ในปี 2021

สินค้าโภคภัณฑ์ – ประเมินบอนด์ยีลด์ที่ต่ำยาวนานเป็นประเด็นหนุนราคาทองคำให้ซื้อขายในระดับ 1700-2100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จุดที่ต้องระวังไม่ใช่นโยบายการเงิน แต่เป็นการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จเร็ว อาจส่งผลให้ตลาดกลับไปเปิดรับความเสี่ยงซึ่งเป็นลบต่อทิศทางราคาทองคำ จึงคงมุมมองราคาทองคำสิ้นปี 2020 ที่ 1850 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ดร.จิติพล สรุปว่า ผลประชุมFOMC ครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยในการปรับสมดุลความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐ หลังเลือกตั้ง ดังนั้นสำหรับนักธุรกิจไทย สามารถมองเป็นโอกาส ที่จะทำการกู้ยืมในช่วงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อธุรกิจในระยะยาวได้ แต่ผู้ส่งออก อาจต้องเตรียมพร้อมกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายการเงินและการคลังสหรัฐที่จะผ่อนคลายมาก หลังเลือกตั้ง

ในฝั่งนักลงทุน ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้นในการลงทุน คือ สัดส่วนการลงทุนในบอนด์ ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ต่ำมากเป็นความเสี่ยงต่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว โดยคาดว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน Emerging Markets เกิดขึ้นได้เร็ว สร้างโอกาสในการลงทุนกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และกลุ่มมูลค่า (Value) ที่ยังคงฟื้นตัวช้ากว่าการลงทุนในกลุ่มเติบโตสูง (Growth) 




กำลังโหลดความคิดเห็น