xs
xsm
sm
md
lg

"วิรัช" เผยเตรียมถกโต๊ะกลมก่อนตั้ง กก.สมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"วิรัช" เผย ประธานสภาฯ เชิญอดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมให้สถาบันพระปกเกล้าจัดหารือโต๊ะกลมรอบแรก พร้อมกำหนดกรอบพิจารณาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก่อน 17 พ.ย. นี้

วันนี้ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการหารือโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ เบื้องต้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการตามแนวทางที่สถาบันพระปกเกล้าได้วางแนวทางเอาไว้ ทั้ง 2 รูปแบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อสรุปอีกครั้งว่าจะออกมาในรูปแบบใด

โดยรูปแบบแรกจะเป็นการเชิญผู้แทนจากทั้ง 7 ฝ่ายเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ และรูปแบบที่ 2 คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสรรหาคณะกรรมการ หรือให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สรรหาคณะกรรมการสมานฉันท์เอง ซึ่งขณะนี้ทราบว่านายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่านเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความวางใจ และเห็นด้วยมากที่สุด

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานในการจัดหารือแบบโต๊ะกลม โดยเชิญทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม ฝ่ายปกป้องรัฐบาล ฝ่ายวิชาการ และ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆมานั่งพูดคุยหารือกัน ประมาณ 9-10 คน เพื่อนำไปสู่การตกผลึกว่ารูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ควรที่จะออกมาเป็นอย่างไร

ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ยังติดประเด็นปัญหาทางเทคนิค คือจะต้องนำเสนอรายงานการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก่อน หรือ นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมของฉบับไอลอว์ขึ้นก่อน ซึ่งจะต้องกลับไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมารับหลักการจำนวน 45 คน และสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ จะแบ่งส่วนออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีตัวแทนจาก ไอลอว์หรือไม่ ซึ่งหากมีตัวแทนจากไอลอว์เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเป็นตัวแทนของสัดส่วนฝ่ายใด

ขณะเดียวกัน จำเป็นที่จะต้องยกเว้นข้อบังคับการประชุมหรือไม่โดยจะต้องนำมาปรึกษาหารือกันต่อไป รวมถึงเรื่องกรอบการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ว่าจะอยู่ในกรอบกำหนดกี่วัน ระหว่าง 30 หรือ 45 วัน ซึ่งยังเป็นประเด็นที่จะต้องนำมาหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยในการโหวตลงมติในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ตามกรอบกำหนดเวลาเดิมจะมีเวลาในการลงมติจำนวน 4 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้มีร่างฉบับของไอลอว์เพิ่มเติมเข้ามา ระยะเวลาจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เห็นควรให้การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติ จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน นี้ ซึ่งหากการพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน สามารถขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น