กรมเจ้าท่า คืนชีวิตให้ "ท่าเรือปากคลองสาน" พร้อมพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ ด้วยการฟื้นฟู "ท่าเรือปลายถนนลาดหญ้า" รองรับการเดินทางของประชาชนจากรถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ตามนโยบายรัฐบาลในการประหยัดพลังงาน และลดความหนาแน่นของการจราจร
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานเปิดกิจกรรม “จิตอาสา พัฒนาท่าเรือปากคลองสาน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟื้นฟูท่าเรือปลายถนนลาดหญ้า ให้กลับมารองรับการเดินทางของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลในการประหยัดพลังงาน และลดความหนาแน่นของการจราจร โดยมีกิจกรรมร่วมกับหน่วยราชการและชุมชนในพื้นที่ เช่น ทาสีท่าเรือ โป๊ะเทียบเรือ เปลี่ยนพื้นศาลาท่าเรือ ขยายทางเดินทางเดินเข้าท่าเรือ ขุดลอกบริเวณปากคลองสาน
กำจัดสิ่งกีดขวางทางเดินเรือ เช่น โป๊ะเรือเก่า เสาไม้ค้อ และหลักผูกเรือเดิม พร้อมปรับภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงาม และปลอดภัย เช่น ติดตั้งไฟส่องสว่าง ตัดแต่งต้นไม้ อีกทั้งเตรียมติดตั้งกล้อง CCTV และจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือฯ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดหาเรือข้ามฟากระหว่างท่าเรือกรมเจ้าท่า-ท่าเรือปากคลองสาน โดยจะเริ่มทดลองวิ่งในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อรองรับประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ซึ่งมีกำหนดเปิดทดลองใช้เดือนธันวาคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
นายวิทยา เปิดเผยว่า "ท่าเรือปลายถนนลาดหญ้า" อดีตเคยเป็นท่าเรือที่ชาวชุมชนคลองสาน พื้นที่ใกล้เคียงนิยมใช้บริการเรือข้ามฟากระหว่างฝั่งกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านพักข้าราชการกรมเจ้าท่า ได้ใช้บริการมายังท่าเรือกรมเจ้าท่า แต่ได้ถูกทิ้งร้างมากว่า 20 ปี
อีกทั้งท่าเรือปลายถนนลาดหญ้ายังมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร 2 อย่าง คือ 1.เสาธงสัญญาณ และ 2. ป้อมป้องปัจจามิตร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ควบคู่กับการขุดคลองผดุงกรุงเกษมต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ป้อมดังกล่าวเป็นสถานที่ตั้งเสาธงสัญญาณแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าของบริษัทใด ออกพระนคร ที่บริเวณปากคลองสาน
หลังจากจัดทำกิจกรรม “จิตอาสา พัฒนาท่าเรือปากคลองสาน” ของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กรมเจ้าท่า จึงได้เปลี่ยนชื่อท่าเรือจาก “ท่าเรือปลายถนนลาดหญ้า” เป็น “ท่าเรือปากคลองสาน” เพื่อให้เกิดการจดจำ และสื่อถึงการใช้เรือเพื่อการขนส่งและเข้าถึงพื้นที่กรุงเทพชั้นในได้สะดวก ด้วยการสัญจรทางน้ำ