กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน คาดก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2564
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท บอกว่า “พิษณุโลก”เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การจราจรบริเวณโดยรอบแหล่งท่องเที่ยวหรือสถานที่สำคัญมีปริมาณที่หนาแน่น ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางระหว่างแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องเป็นวงรอบ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของชุมชน บรรเทาความแออัดของการจราจรบริเวณสะพานนเรศวร
ทช. จึงดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยสะพานดังกล่าวจะตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ ตัวสะพานมีความยาวรวม 120 เมตร แบ่งเป็น 5 ช่วงความยาว ผิวทางกว้าง 7 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) แต่ละด้านของสะพานมีทางเท้าและทางจักรยานกว้างด้านละ 3 เมตร
โครงสร้างสะพาน ช่วงข้ามแม่น้ำ มีลักษณะเป็นสะพานเหล็กโค้ง(Steel Arch Bridge) ความยาวช่วง 80 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาตอม่อในแม่น้ำอันอาจจะเป็นอุปสรรคต่อประเพณีการแข่งเรือยาวที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี รวมถึงส่วนประกอบอื่น ๆ ของสะพาน ได้แก่ราวสะพาน และเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ที่ได้รับการออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมของท้องถิ่นมาประยุกต์ ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่แตกต่างจากสะพานอื่นและสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้เมื่อก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จ จะเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดพิษณุโลกด้วย
นอกจากนี้ ทช. ได้เร่งรัดงานโดยการผลิตโครงสร้างเหล็กของสะพานแยกเป็นส่วนๆในโรงงานแล้วนำมาประกอบติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะทำให้ก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้แล้ว ยังสามารถช่วยลดผลกระทบจากการก่อสร้างต่อประชาชนในพื้นที่ได้
ปัจจุบัน โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า 60 % คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2564 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 79.950 ล้านบาท