รัฐมนตรีคลัง ระบุ รัฐบาล จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินพื้นที่ กทม. เพื่อคุมสถานการณ์การชุมนุม ด้านสภาพัฒน์ ยอมรับการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจ พร้อมเกาะติดสถานการณ์รายวัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังเป็ประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2563 (Prime Minister’s Insurance Awards 2020) ว่า รัฐบาล จำเป็นต้องประกาศใช้พระราชกำหนด บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่ กทม. เพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จากการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็นการประกาศใช้เฉพาะพื้นที่ จึงไม่น่ากระทบภาพรวมเศรษฐกิจ แต่หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะทำให้การชุมนุมที่เกิดขึ้น กระทบต่อภาคธุรกิจได้
นายอาคม ขอให้ภาคเอกชน เดินหน้าธุรกิจต่อไป เพราะแต่ละวัน คือ รายได้ ขณะที่กระทรวงการคลัง จะดูแลศักยภาพเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายการคลัง ให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม พร้อมเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้า เพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นด้วยที่ รัฐบาล ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ เพื่อดูแลการชุมนุม เพราะประเทศชาติ อยู่ด้วยความสงบ ความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งมีกฎหมายที่ต้องใช้ดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อให้คนทำมาหากินได้ตามปกติ
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า 4-5ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองสงบ โดยช่วงก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจเดินได้ระดับหนึ่ง และขณะนี้เศรษฐกิจ ก็กำลังฟื้นจากโควิด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ชุมนุม ยังประเมินได้ไม่ชัดเจนว่า จะกระทบอย่างไร ซึ่ง สภาพัฒน์ ไม่ได้ประเมินความเสี่ยงปัจจัยการเมือง ว่า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีนี้อย่างไร แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น ต้องประเมินเป็นรายวันถึงความคืบหน้าในการชุมนุม และการควบคุมสถานการณ์
เลขาธิการ สภาพัฒน์ ย้ำด้วยว่า หากบ้านเมืองสงบ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจก็เดินหน้าได้ โดยปีนี้ จีดีพีไทย ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ในไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12.2 % ส่วนทั้งปี 2563 สภาพัฒน์ ประเมินว่า จะติดลบ 7.8 % ถึง ลบ 7.3 %