xs
xsm
sm
md
lg

กูรู ชงรัฐวางมาตรการฟื้นฟูแต่ละภาคให้ตรงจุดและทันการณ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วงเสวนา “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระบุเศรษฐกิจตะวันออกชะงัก ท่องเที่ยวหายวูบ -อีอีซียังไร้คู่ค้า เสนอรัฐ วางมาตรการให้ตรงกับพื้นที่ ที่แต่ละภาค ได้รับความเดือดร้อนแตกต่างกัน

นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ว่า ผลจากวิกฤติโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวลงติดลบ 7.8 % จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ -0.9 % แม้อุปสงค์อุปทานในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน ภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี และมีความเสี่ยงที่จะเลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่ไม่ทราบว่า จะจบเมื่อไหร่ กว่าจะกลับสู่ระดับเดิม ส่งผลต่อจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น

นายจิตเกษม มองว่า รัฐต้องมีมาตรการช่วยให้ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้นและต้องมีนโยบายที่ลงรายละเอียดในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ต้องสนับสนุนการจ้างงาน รักษาศักยภาพการเติบโต และควรมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องและดำเนินการมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพิ่มเติม รัฐควรมีนโยบายและใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุดและเตรียมสำรองกรณีเลวร้ายที่สุดและเห็นว่า ไทยอาจต้องยอมให้มีการติดโควิดในประเทศบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ นโยบายของภาครัฐต้องมีการประสานกันเพื่อลดผลกระทบระยะยาวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการปรับตัวของธุรกิจหลังโควิด

นายจิตเกษม ระบุว่า โควิด 19 ทำให้มีแรงงานกลุ่มเสี่ยงตกงานเกือบ 9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำ อยู่นอกระบบ บริษัทเกือบทั้งหมด เป็นเอสเอ็มอี เป็นแรงงานที่เสี่ยงในภาคบริการ 8.3 ล้านคน ภาคการผลิต 5 แสนคน โดยแรงงานที่มีการย้ายถิ่นฐานกลับมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือละภาคใต้ คือ จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในเดือนส.ค.มีตัวเลขคนตกงานและเสมือนตกงาน ประมาณ 3.6 ล้านคน ในขณะที่กทม.มีแรงงานย้ายกลับออกไปยังจังหวัดอื่น ประมาณ 1.3 ล้านคน

สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง 5 เดือน อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยว ไม่ได้ผลตามคาด เช่นโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 3 พันล้านบาท จากที่คาดไว้ 45 พันล้านบาท โดยมีการใช้สิทธิ์โรงแรมในการจองเพียง 870,000 คำสั่งจอง หรือ 17% ,ใช้สิทธิ์ตัวบิน 5,189 บุ๊กกิ้ง หรือ 0.25% ,ใช้จ่ายผ่านวอร์เชอร์กินเที่ยว 423 ล้านบาท

ธปท.เห็นว่า นโยบายการเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติ แต่จำกัดพื้นที่เดินทาง ทำให้รายได้กระจุกตัวอยู่กับโรงแรมขนาดใหญ่ ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือของรัฐที่ออกมาส่วนใหญ่เน้นการลดต้นทุนและกระตุ้นความต้องการซื้อแต่พบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือเพราะไม่มีใบอนุญาตโรงแรม โดยตัวเลขจากสมาคมโรงแรมพบว่ามีโรงแรมถูกกฏหมายประมาณ 26% และผิดกฎหมาย 74% ของจำนวนทั้งหมด 6.6 หมื่นแห่ง เนื่องจากกฎหมายการอนุญาตโรงแรมของไทยล้าสมัยและขั้นตอนการขออนุญาตมากเกินไป

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่าภาคตะวันออก โดยเฉพาะชลบุรี เก็บภาษีได้อันดับ 1 ของประเทศ รองจากก ทม. เพราะมีฐานธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และการท่องเที่ยว , มีโรงงาน 5 พันกว่าแห่ง และเป็นหนึ่งในจังหวัดในกลุ่มอีอีซี แต่ที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี รัฐแต่งตัวแล้ว แต่ยังไม่เห็นคู่ค้า หรือ เป็นไปได้ว่า ภาคเอกชน รอให้โครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ

ด้านนายพยัพ แจ้งสวัสดิ์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีผลกระทบจากปัญหางบประมาณปี 2562 ที่เบิกจ่ายล่าช้า ,การหดตัวของภาคการส่งออก ,สถาบันการเงินระวังการให้สินเชื่อ ,ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ, ปัญหาการค้าอีคอมเมิร์ซ ที่อาจทำให้ต้นทุนลดลง แต่กระทบด้านราคาอย่างรุนแรง ,การขาดแคลนแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว และประการสำคัญ เมื่อมีอีอีซีแล้ว รัฐบาลจะมีการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไร

ข้อเสนอของอุตสาหกรรมภาคตะวันออก คือ 1.การเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในโครงการอีอีซี และกระตุ้นให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด 3.เน้นกระตุ้นท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของภาค 4. ให้การจัดซื้อของภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าไทยเมดอินไทยแลนด์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

5.ให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาท ต่อหลังจากหมด พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น 6. ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว 7.สนับสนุนแนวทาง F.T.I Fast Payment เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยการชำระหนี้ให้กับคู่ค้าภายใน 30 วัน หรือ เร็วกว่า

นายรัตนชัย สุทธิเดชานัย คณะที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา กล่าวว่า แต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวมาเมืองพัทยา ปีละ 18 ล้านคน เป็นคนต่างชาติ 10 ล้านคน และคนไทย 8 ล้านคน มีรายได้ปีละประมาณ 2.2 แสนล้านบาท (ปี 2562) ดังนั้นรัฐบาล ต้องมีนโยบายที่จะทำให้คนไทยอีก 8 ล้านคนออกมาท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยพบว่าแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงนิเวศน์ ได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ชุมชนมะพร้าวเตี้ยของพัทยา ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก และเห็นว่า ไทยควรจะพัฒนาระบบการจองห้องพักขึ้นมาแทนการให้คนไทย จองผ่านแอพพลิเคชั่นต่างประเทศ

นายนฤพล กิ้นบูราญ เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีลดลงอย่างมาก โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 6.6 ล้านคน มีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท แต่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเพียง 1.4 ล้านคน รายได้ 3.7 หมื่นล้านบาท

ด้านนายพูลลาภ อุไรงาม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติ คนจะกลับบ้านเพื่อทำการเกษตร โดบพบว่า ปีนี้ มีแรงงานกลับมาภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะไม่ชิน และไม่เคยทำ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยมีโครงการ 5 ประสานเพื่อดำเนินการเกษตรทฤษฏีใหม่ ในช่วงปี 60-63 มีผู้เข้าโครงการ 210,000 ราย เพราะเชื่อมั่นในแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง คือ การอยู่รอดของครัวเรือนและของประชาชนในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แม้การทำเกษตรในปัจจุบัน ต้องหันมาเรียนรู้การทำเกษตรที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากขึ้น เพื่อลดแรงงานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ก็สามารถทำได้ในแนวทางพอเพียง เพราะทุกธุรกิจสามารถใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการทำงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น